เกียรติมุข หน้ากาล อสูรผู้กลืนกินทุกสิ่ง แม้แต่ตัวเอง
คนที่เคยไปท่องเที่ยวโบราณสถานในสมัยสุโขทัยส่วนใหญ่มักจะเดินผ่านซุ้มจระนำเข้าออกโบราณ พร้อมกับกวาดสายตาชื่นชมความสวยงามตระการตาของโบราณวัตถุ และประติมากรรมฝาผนังมากมายโดยรอบ น้อยคนนักที่จะหยุดที่ปากซุ้มจระนำแล้วมองขึ้นไปยังปลายยอดของซุ้ม แล้วสังเกตเห็นอสูรตนหนึ่งถูกประดับเอาไว้อยู่เสมอ ทำให้อสูรที่ถูกลืมตนนี้ค่อยๆถูกลืมเลือน “ชื่อ” ไปจากการรู้จักของคนไทยอย่างน่าเสียดาย แต่ก่อนที่มันจะหายไปอย่างถาวร บทความชิ้นนี้ขอหยิบยกเรื่องราวของอสูรที่เกือบถูกลืมเลือน ที่มีนามว่า “เกียรติมุข” มาให้คุณผู้อ่านรู้จักกัน
เกียรติมุข คืออะไร?
เกียรติมุข หน้ากาล หรือตัวกาล บางครั้งถูกเรียกว่า “สิงหมุข” ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู เกียรติมุข มีความหมายถึง “เวลา” ที่กลืนกินทุกสรรพสิ่ง ทำให้เวลาเป็นผู้ครอบครองทุกสรรพสิ่ง ในขณะที่หน้ากาล มีความหมายถึงเวลา ในขณะเดียวกันก็เป็นชื่อของพญายมราช ผู้ที่ทำหน้าที่ในการพิพากษาคนตายที่ปรากฏตัวในคัมภีร์อาถรรพ์เวทของชาวฮินดู นอกจากนี้ ในบางตำนานกล่าวว่า หน้ากาล มีความหมายถึงผู้กลืนกินเวลาทุกขณะในโลก ที่ไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้ ในขณะที่ทางพุทธศาสนา เกียรติมุข มีความหมายถึง “กาลเวลาที่กินทุกสิ่ง” เพื่อเตือนให้มนุษย์ลงมือทำวันนี้ให้ดีที่สุด...
ลักษณะที่น่าสนใจของอสูรเกียรติมุข
เกียรติมุข มีลักษณะรูปหน้ายักษ์ผสมกับสิงห์ หรือบางครั้งก็ปรากฏให้เห็นเป็นใบหน้าของอสูรที่มีความดุร้าย คิ้วขนขมวด นัยน์ตากลมโตถลน จมูกใหญ่ ปากกว้างจนสามารถมองเห็นฟันด้านบนโผล่พ้นออกมาจากริมฝีปากได้อย่างชัดเจน เพราะมันไม่มีริมฝีปากด้านล่าง เกียรติมุขไม่มีลำตัว แขนทั้งสองข้างจึงยื่นออกมาจากด้านข้างของศีรษะ และสวมเครื่องประดับที่มีลักษณะเป็นกะบังหน้า เชื่อกันว่าในยุคแรกเกียรติมุขมีลักษณะของใบหน้าคล้ายกับมนุษย์ แต่ด้วยความเชื่อบวกกับศิลปะที่พัฒนามากขึ้นทำให้มีลักษณะคล้ายสิงโตมากขึ้น จนกระทั่งดูเหมือนกับอสุรกายอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
การถือกำเนิดเกียรติมุข
พระศิวะ ผู้ให้กำเนิดเกียรติมุข
จากนิทานปรัมปราของศาสนาฮินดู
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการถือกำเนิดของเกียรติมุขว่า อสูรผู้เป็นใหญ่ในเมืองมารตนหนึ่งที่มีนามว่า
“ชลันธร” ที่ถือกำเนิดจากเปลวไฟของพระศิวะ
(บางตำนานเล่าว่าเป็นพญายักษ์ที่บำเพ็ญตบะจนแก่กล้า กระทั่งได้รับพรจากพระศิวะ)
มีนิสัยระรานไปทั้งสามโลก ได้หลงรักนางภารวดี
ผู้ที่มีความงดงามเหนือสตรีทุกนางในจักรวาลผู้เป็นชายาของพระศิวะ แถมยังสำคัญตนผิดคิดว่าตนเหมาะที่สุดกับพระนางจึงได้ส่ง
“ราหู” ไปเป็นทูตเจรจา (ข่มขู่) พระศิวะให้มอบนางภารวดีให้กับตนเอง
ไม่เช่นนั้นจะยกทัพไปรบชิงตัว ด้วยความกริ้ว พระศิวะได้ลืมดวงตาที่สามขึ้น บันดาลให้กำเนิดอสุรกายผุดขึ้นระหว่างคิ้วที่ขมวดของพระองค์
อสูรตนนั้นมีหน้าตาคล้ายสิงห์ ลิ้นยาว ตัวผอมเกร็ง
และมีความหิวกระหายอย่างไม่รู้จักจบสิ้น พระศิวะสั่งให้อสูรตนนั้นจับราหูผู้เป็นทูตกินเสีย
ราหูอ้อนวอนร้องขอชีวิตจนพระศิวะใจอ่อนยอมยกโทษให้ แต่เนื่องจากอสูรตนนั้นมีความหิวกระหายอย่างมาก
จึงทูลขออย่างอื่นกินเพื่อแทนราหูเพื่อดับความกระหาย
พระศิวะตรัสให้อสูรทำการกลืนกินร่างกายของตัวเองเสีย มันก็ยอมทำตามแต่โดยดี
กลืนกินร่างกายและแขนขาจนสิ้น เหลือเพียงศีรษะและริมฝีปากด้านบนเท่านั้น ด้วยความสงสารในความภักดีเชื่อฟังจึงได้ทำการประทานพรให้กับอสูรต้นนั้นให้มีชื่อว่า
“เกียรติมุข” พร้อมกับให้ที่อยู่เหนือซุ้มประตูทางเข้าเทวสถานของพระศิวะ
พร้อมกับกำชับว่า
“ต่อไปนี้เจ้าจงได้ชื่อว่าเกียรติมุข คือ ใบหน้าอันมีเกียรติ คอยเฝ้าอยู่ที่ประตูวิมานด้านหน้า แม้นมันผู้ใดไม่เคารพเกียรติมุข มันผู้นั้นย่อมไม่ได้รับพรแห่งศิวะ”
ภาพจาก : facebook.com/ShizaParadiso
ในบางตำนานเล่าว่าในขณะที่เกียรติมุขไล่ล่าราหูอย่างบ้าคลั่ง
แต่ถูกพระศิวะห้ามเอาไว้เสียก่อน
ทำให้เกียรติมุขหันมากัดกินตัวเองด้วยความหิวและโกรธ จนเหลือเพียงแค่ใบหน้าและแขน พระศิวะเห็นดังนั้นทำให้ทรงตระหนักว่า
“ความโกรธเป็นสิ่งที่น่ากลัว ที่พร้อมทำลายทุกสรรพสิ่งแม้แต่ตัวเอง” ทำให้พระองค์ทรงตั้งชื่อของอสูรตนนั้นใหม่จาก
“กาล” เป็น เกียรติมุข อันมีความหมายว่า “หน้าที่อันทรงเกียรติ”
พร้อมกับมอบหน้าที่ให้ไปเฝ้าประตูวิหาร และยังทำหน้าที่คอยดูแลฝูงปศุสัตว์ของพระศิวะ
เนื่องจากเกียรติมุขกำเนิดจากพระศิวะผู้ได้รับการยกย่องส่าเป็น “ปศุบดี” หรือ
ผู้เป็นใหญ่ในฝูงสัตว์ จึงถูกนับว่าเป็นลูกของพระองค์
จึงมีฤทธิ์ในการช่วยปกป้องฝูงสัตว์เลี้ยงได้
ตำนานเกี่ยวกับการถือกำเนิดของเกียรติมุขอีกบทหนึ่งเล่าว่า เกียรติมุขเกิดขึ้นจากนรสิงห์ตนหนึ่งที่พระศิวะเคยประทานพรให้แล้วเกิดความทะเยอทะยาน หลงใหลในพลังอำนาจ ทำให้พระศิวะต้องทรงเสด็จกลับมาปราบ พร้อมกับทำการตัดเศียรของนรสิงห์แล้วนำไปประดับไว้ที่ทางเข้าของศาสนสถาน เพื่อให้ลมหายใจของเกียรติมุขมอบพลังให้กับคนที่เข้ามายังศาสนสถานไปชั่วนิรันดร์
นอกจากนี้ ยังเชื่ออีกว่าเกียรติมุขมีต้นกำเนิดมาจากประเทศสักหนึ่งในทวีปเอเชีย จีน หรือทิเบต เนื่องจากในประเทศเหล่านี้มีการพบอสูรที่มีลักษณะคล้ายเกียรติมุขที่เรียกว่า “เต้าแจ้” อยู่ที่ภาชนะสำริดของประเทศจีน ประเมินอายุได้ราว 850-880 ปี ก่อนพุทธกาล และปรากฏตัวในศิลปะของประเทศอินเดียววในสมัยอมราวดี และคุปตะอีกด้วย ส่วนประเทศไทยเชื่อว่าเกียรติมุข เข้ามาในช่วงสมัยทราวดีและศรีวิชัย โดยพบได้ตามโบราณสถานสำคัญอย่างเช่น ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา เจดีย์วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จ.เชียงราย และวัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย จ.สุโขทัย เป็นต้น
ความเชื่อเกี่ยวกับเกียรติมุข
เชื่อกันว่าเกียรติมุขมีฐานะเป็น
“อสูรผู้พิทักษ์สถานที่” หรือ “เทพเจ้ารักษาธรณีประตา ดังนั้น การสร้างเกียรติมุขประดับเอาไว้เหนือประตูทางเข้าหรือหน้าต่าง
สามารถช่วยปกป้อง คุ้มครอง
รักษาไม่ให้สิ่งชั่วร้ายทั้งปวงสามารถย่างกรายเข้ามาในสถานที่แห่งนั้นได้
ในยุคแรกนิยมประดับไว้ ณ เทวสถานโดยเฉพาะของพระศิวะ
ภายหลังนิยมนำเกียรติมุขมาประดับไว้ที่ซุ้มประตูของพุทธศาสนสถาน
แล้วนำมาตกแต่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ รวมไปถึงมหาราชวัง นอกจากนี้เกียรติมุขยังได้รับความนิยมสร้างกันอย่างแพร่หลายในอินโดนีเซียอีกด้วย
นอกจากความเชื่อว่าเกียรติมุขช่วยปกป้องเทวสถานจากสิ่งชั่วร้ายแล้ว
เกียรติมุขยังเป็นกุศโลบายคอยย้ำเตือนสติของผู้ที่กำลังจะก้าวผ่านประตูไปว่ากำลังจะได้ก้าวผ่านภพภูมิ
และกาลเวลาสู่ดินแดนที่พ้นด้วยข้อจำกัดของกาลเวลาในเทวสถานแห่งนั้น
ด้วยเรื่องราวที่ได้กล่าวมา อาจทำการสรุปได้ว่า เกียรติมุข เป็นอสูรที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากโทสะที่พร้อมกลืนกินทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ตัวเอง เช่นเดียวกับกาลเวลาที่สามารถกลืนกินทุกสิ่งทุกอย่างได้โดยไม่สามารถหวนคืนกลับมาได้เช่นกัน...