ตำนาน “แม่ซื้อ” เทวดาผู้คอยดูแล คุ้มครองเด็กทารก
“แม่ซื้อ...” เป็นหนึ่งในเรื่องราวความเชื่อของคนไทยสมัยก่อนว่าหากทำการฝากฝังเด็กทารกเอาไว้กับแม่ซื้อ ยามปล่อยเด็กเอาไว้เพียงลำพังก็จะยิ้มแย้มแจ่มใสอารมณ์ดี เหมือนกับมีพี่เลี้ยงที่มองไม่เห็นคอยหยอกเย้าดูแลอยู่ไม่ห่าง ส่วนเรื่องราวของแม่ซื้อจะมีความน่าสนใจอย่างไรกันบ้างนั้น มาติดตามอ่านรายละเอียดจากบทความชิ้นนี้กันได้เลย
แม่ซื้อคืออะไร!? มีความสำคัญกับวิถีชีวิตชาวไทยอย่างไร
“แม่ซื้อ” เป็นชื่อที่คนทั่วไปใช้เรียกขาน “เทวดา” หรือ “ภูตผี” โดยส่วนใหญ่มักเป็นเพศหญิง ที่ทำหน้าที่ในการคอยดูแลรักษาเด็กทารก ไม่ให้เกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ชาวภาคกลางเชื่อกันว่าเด็กทุกคนจะมีแม่ซื้อ 7 ตน ตามวันที่เกิด ดังต่อไปนี้
แม่ซื้อประจำวันอาทิตย์ “วิจิตรมาวรรณ”
แม่ซื้อประจำวันอาทิตย์ วิจิตรมาวรรณ มีหัวเป็นสิงห์ ผิวกายสีแดง ถิ่นอาศัยอยู่ในจอมปลวก
แม่ซื้อประจำวันจันทร์ “วรรณนงคราญ”
แม่ซื้อประจำวันจันทร์ วรรณนงครา มีหัวเป็นม้า มีผิวสีขาวนวล ถิ่นอาศัยอยู่ในบ่อน้ำ
แม่ซื้อประจำวันอังคาร “ยักษ์บริสุทธิ์”
แม่ซื้อประจำวันอังคาร ยักษ์บริสุทธิ์ มีหัวเป็นมหิสา (กระบือ) ผิวกายสีชมพู ถิ่นอาศัยอยู่ในศาลเทพารักษ์
แม่ซื้อประจำวันพุทธ “สามลทัศ”
แม่ซื้อประจำวันพุทธ สามลทัศ (บางตำราเรียกชื่อว่า นางสมุทชาต) มีหัวเป็นช้าง ผิวกายสีเขียว ถิ่นอาศัยอยู่ที่ต้นพระศรีมหาโพธิ
แม่ซื้อประจำวันพฤหัสบดี “กาโลทุกข์”
แม่ซื้อประจำวันพฤหัสบดี กาโลทุกข์ มีหัวเป็นกวาง ผิวกายสีเหลืองอ่อน ถิ่นอาศัยอยู่ที่สระน้ำหรือบ่อน้ำใหญ่
แม่ซื้อประจำวันศุกร์ “ยักษ์นงเยาว์”
แม่ซื้อประจำวันศุกร์ ยักษ์นงเยาว์ มีหัวเป็นโค ผิวกายสีผ้าอ่อน ถิ่นอาศัยอยู่ที่ต้นไทรใหญ่
แม่ซื้อประจำวันเสาร์ “เอกาไลย์”
แม่ซื้อประจำวันเสาร์ เอกาไลย์ ผิวกายสีดำ ทุกตนทรงอาภรณ์สีทอง ถิ่นอาศัยอยู่ที่ศาลพระภูมิ
แม่ซื้อกับความเชื่อของชาวเหนือ
ผู้คนในภาคเหนือมีความเชื่อกันว่าแม่ซื้อคือ “เทวดา” ที่ทำหน้าที่ในการช่วยคุ้มครองเด็กแรกเกิดในฐานะเทวดาประจำตัว โดยมีทั้งหมด 7 นาง โดยมีลักษณะรูปกายและชื่อเรียกขานที่คล้ายคลึงกับความเชื่อของชาวภาคกลางดังที่ได้กล่าวถึงกันไปแล้วในตอนต้น
แม่ซื้อกับความเชื่อของชาวใต้
สำหรับชาวใต้ แม่ซื้อคือสิ่งเร้นลับที่ฝังลึกอยู่ในความเชื่อของชาวบ้าน แม่ซื้อ “ไม่มีตัวตน” และไม่ปรากฏอย่างแน่ชัดว่าเป็นเทวดาหรือภูตผีที่ชัดเจนเหมือนกับแม่ซื้อของภาคอื่น แต่จะทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยงเด็ก” ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งถึงอายุ 12 ขวบ โดยแม่ซื้อของชาวใต้จะมีอยู่ทั้งหมด 4 นาง หรือที่เรียกกันว่า “แม่ซื้อสี่คน” มีนามว่า “ผุด ผัด พัดและผล”
แม่ซื้อเป็นอันตรายกับเด็กทารกหรือเปล่า!?
ความเชื่อของผู้คนส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกันว่า แม่ซื้อมีหน้าที่หลักในการเป็นพี่เลี้ยงของเด็กทารก แต่ในขณะเดียวกันบางครั้งแม่ซื้ออาจทำการแปลงร่างเป็นสิ่งต่างๆหลอกหลอนให้ทารกเกิดความตกใจจนร้องไห้จ้า หรือเจ็บป่วยได้เช่นกัน ส่วนสาเหตุที่แม่ซื้อทำเช่นนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วมักเกิดขึ้นจากการไม่ได้ทำพิธีฝากฝังเด็กทารกเอาไว้กับแม่ซื้ออย่างเหมาะสม
พิธีกรรมเกี่ยวกับแม่ซื้อในประเทศไทย
ชาวบ้านในภาคอีสานและภาคกลางสมัยก่อนจะมีการจัดพิธีกรรมแม่ซื้อ โดยการนำเด็กทารกมาวางเอาไว้ใน “กระด้งร่อน” เพื่อเป็นการบอกกล่าวกับเหล่าแม่ซื้อว่าเด็กทารกคนดังกล่าวได้มีคนรับไปเลี้ยงแล้ว โดยขณะที่ทำพิธีจะกล่าวว่า
“สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใคร ใครเอาไปเน้อ”
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อในการทำพิธีกรรม “ทำแม่ซื้อ” หรือ “เสียแม่ซื้อ” เพราะเชื่อว่าจะเป็นการช่วยเสริมสิริมงคลแก่เด็ก ช่วยทำให้เด็กทารกหายจากอาการสะดุ้งหวาดผวาหรือเจ็บไข้ได้ป่วย นอกจากนี้ยังเป็นการเอาใจแม้ซื้อเพื่อให้ทำการดูแลรักษาเด็กทารกด้วยดี โดยพิธีกรรมเหล่านี้จะจัดขึ้นในวันเกิดของเด็กทารก หากเป็นวันข้างขึ้นให้ใช้วันคี่และข้างแรมให้ใช้วันคู่
บทสรุปส่งท้าย : แม่ซื้อ กับเทวดาผู้พิทักษ์ ความเชื่อที่คล้ายกันของทวีปตะวันออกและตะวันตก
ในทวีปตะวันตกเองก็มีความเชื่อที่คล้ายคลึงกับเรื่องราวของแม่ซื้ออยู่เช่นกัน โดยเชื่อกันว่าเด็กๆ ได้รับการคุ้มครองดูแลจากเทวดาที่ถูกเรียกว่า “เทวดาผู้พิทักษ์” หรือ Guardian Angel ที่จะปรากฏตัวให้เฉพาะเด็กเห็น ส่วนใหญ่แล้วมักจะมาในรูปแบบของ “เพื่อนที่มองไม่เห็น” หรือ “เพื่อนในจินตนาการ” ทำให้เด็กหลายคนอาจเล่นหรือพูดคุยกับเพื่อนที่มองไม่เห็นเหล่านี้ในวัยเด็ก แต่เมื่อเวลาผ่านไปจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ความเชื่อเกี่ยวกับเทวดาผู้พิทักษ์ก็จะค่อยๆเลือนหายไปจากประสบการณ์ชีวิตที่มากขึ้นนั่นเอง...