The Crying Boy: เด็กชายผู้ร่ำไห้ ภาพวาดต้องสาปที่อยู่เบื้องหลังเพลิงไหม้ปริศนาทั่วโลก!
The Crying Boy หรือภาพวาดเด็กชายร้องไห้... เป็นหนึ่งในสิ่งของต้องคำสาปที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของโลก มันถูกวาดขึ้นมาโดยจิตรกรชาวอิตาลี ที่ใช้นามปากกาว่า Giovanni Bragolin หรือชื่อจริงคือ Bruno Amarillo ศิลปินที่เต็มไปด้วยปริศนาที่แทบไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับตัวตนของเขา แต่ปรากฏว่าผลงานอย่างภาพเด็กชายร่ำไห้กลับได้รับความนิยมเป็นอย่างมากโดยเฉพาะคู่รักหนุ่มสาวในช่วงปี 1950-1970 ในฐานะของที่ระลึกสุดแปลก รูปภาพที่เต็มไปด้วยความรู้สึกอันหนักอึ้งแห่งความโศกเศร้าของเด็กทั้งชายหญิงหลายร้อยรูปที่ถูกวาดขึ้นได้ถูกซื้อและกระจายไปประดับอยู่ในบ้านทั่วโลก ในขณะเดียวกันภาพวาดนี้ก็มีชื่อเสียงในเรื่องของความลี้ลับของ “คำสาป” เป็นอย่างมากเช่นกัน...
ภาพวาดต้องสาป : The Crying Boy
ย้อนกลับไปในช่วงปี 80 กลางดึกในประเทศอังกฤษ บ้านหลังหนึ่งในเวาท์ยอร์กเชียร์เกิดเพลิงไหม้ในห้องนั่งเล่นจนทั้งห้องกลายเป็นสีดำ ผ่านม่านและเฟอร์นิเจอร์ได้กลายเป็นเถ้าถ่าน รอนและเมย์ ฮอล เจ้าของบ้านยืนมองเศษซากแห่งความหลงเหลือที่กลืนกินเกือบทุกสิ่งทุกอย่างของบ้านไปอย่างไร้ความปรานี สิ่งเดียวที่พวกเขาเหลืออยู่คือ “ภาพวาดของเด็กชายร้องไห้” ที่ดวงตายังคงเบิกกว้างมองออกไปนอกซากปรักหักพังโดยไม่มีแม้แต่ร่องรอยของเขม่าควันดำติดคล้ำบนภาพเลยสักนิดเดียว!?
ภาพนั้นมีชื่อว่า เด็กชายร้องไห้ “The Crying Boy” และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ภาพเด็กชายร้องไห้ปรากฏตัวอยู่ท่ามกลางกองเถ้าถ่านของบ้านที่ถูกไฟไหม้จนวอด!!!
ในปี 1980 เจน แมคคัทชิน คุณแม่ลูกสองกำลังทำความสะอาดห้องครัวอยู่ก่อนที่จะพบว่าจู่ๆผ้าม่านก็ลุกติดไฟอย่างรุนแรง เธอกับครอบครัวพากันหนีเอาตัวรอดออกมาได้สำเร็จ แต่บ้านทั้งหลังก็ต้องวอดวายไปยกเว้นภาพวาดเด็กชายร่ำไห้ที่แขวนเอาไว้ในห้องนั่นเล่น เธอมองดูภาพที่ไม่เสียหายนั้นด้วยความประหลาดใจ ในขณะที่พนักงงานดับเพลิงที่เดินเข้ามาเห็นภาพวาดนั้นแล้วอุทานออกมาว่า “โอ้ไม่... ไม่ใช่อีก”
เรื่องราวของภาพวาดต้องคำสาป เริ่มได้รับความสนใจในสังคมมากขึ้น หลังจากที่หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของประเทศอังกฤษ The Sun ได้รายงานข่าวหัวข้อ “Blazing Curse of the Crying Boy Picture!” จากคำบอกเล่าของนักผจญเพลิงแห่งสถานี Essex ในวันที่ 5 กันยายน 1985 ที่อ้างว่าได้พบสำเนาของภาพวาด The Crying Boy ที่ไม่ได้รับความเสียหายจากเปลวไฟบ่อยครั้งอยู่ท่ามกลางเศษซากของบ้านที่ถูกเผาจนวอด หลังจากที่ข่าวนี้ได้แพร่สะพัดออกไป ปรากฏว่ามีผู้อ่านมากมายที่ส่งเรื่องราวที่คล้ายคลึงกันเข้ามายังหนังสือพิมพ์มากมาย จนทำให้ถึงขนาดมีข่าวลือว่าภาพนี้ต้องคำสาป และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ขึ้น ซึ่งคนที่เชื่อเรื่องนี้มากที่สุดดูเหมือนจะเป็นเหล่าพนักงานดับเพลิงแห่งสถานี Essex ที่ถึงขนาดไม่ยอมให้มีสำเนาภาพต้องสาปนี้อยู่ในบ้านของตัวเองกันเลยทีเดียว ในขณะเดียวกันชาวอังกฤษจำนวนมากก็ได้ทำการกำจัดภาพวาดต้องคำสาปนี้ออกไปจากบ้านของตัวเอง เพราะเชื่อว่าจะเป็นการช่วยป้องกันการเกิดเพลิงไหม้จากพลังลี้ลับเหนือธรรมชาติได้
ในปีเดียวกัน หนังสือพิมพ์ The Sun ได้ประกาศขอให้คนที่ครอบครองภาพวาดต้องสาปนี้ส่งภาพมาให้เพื่อนำไปทำลายทิ้งในครั้งเดียว ตามรายงานในขณะนั้นกองบรรณาธิการเต็มไปด้วยภาพเด็กชายร่ำไห้ แต่บรรณาธิการเองก็ปฎิเสธอย่างแข็งขันที่จะให้แขวนรูปนี้เอาไว้ในห้องของตัวเองเพื่อพิสูจน์ตำนานคำสาป!
ตำนานเมืองของรูปภาพต้องสาป The Crying Boy
เชื่อกันว่าหนึ่งในต้นแบบของรูปภาพ The Crying Boy คือ เด็กชายชาวสเปนชื่อว่า Don Bonillo ที่แสนซุกซนกระทั่งวันหนึ่งเขาจุดไฟเล่น แต่มันกลับโหมแรงจนเผาบ้านวอดไปทั้งหลัง แต่สิ่งที่น่าเศร้ากว่าคือ พ่อแม่ของเด็กคนนี้ต้องจบชีวิตลงในกองเพลิง หลังจากนั้นไม่ว่าเขาจะไปที่ไหนก็จะมีเปลวไฟมรณะตามติดไปด้วยจนกระทั่งได้รับฉายาว่า “Diablo” (*ปีศาจ) หลังจากนั้นในปี 1970 เขาก็ถูกไฟเผาจนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์เช่นเดียวกับครอบครัวที่จากไป
The Crying Boy คือภาพวาดอาถรรพ์จริงหรือเปล่า!?
Steve Punt
ภาพวาด The Crying Boy ตกเป็นจำเลยของคดีเพลิงไหม้ปริศนาอยู่นานหลายปี จนกระทั่ง Steve Punt นักเขียนและนักแสดงตลกชาวอังกฤษได้รายงานผลการทดสอบของภาพวาดต้องสาปทางวิทยาศาสตร์ จากการศึกษาพบว่า ภาพวาด The Crying Boy ได้รับการเคลือบเงา ซึ่งสารดังกล่าวช่วยป้องกันความร้อนจากเปลวไฟ เมื่อเชือกที่ขึงภาพเอาไว้พบความร้อนมันก็จะขาดทำให้ภาพคว่ำหน้าตกลงไปบนพื้น ซึ่งเป็นการช่วยปกป้องภาพนี้เอาไว้มากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ภาพยังถูกวาดลงบนผ้าใบบีบอัดที่ทำให้ยากต่อการถูกไฟเผาไหม้ นี้เป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมรูปภาพ The Crying Boy จึงมักเป็นสิ่งที่หลงเหลืออยู่ท่ามกลางกองเถ้าถ่าน ในขณะที่ภาพวาดอื่นๆถูกเปลวเพลิงผลาญทำลายไปจนหมด
อ้างอิง:
A Painting of a Crying Boy Was Blamed for a Series of Fires in the ’80s