เบกคุยโจโนเซะ (Bake ichō no sei) วิญญาณต้นแปะก๊วย ผู้ปรากฏตัวพร้อมสร้างความประหลาดใจ แห่งประเทศญี่ปุ่น
เบกคุยโจโนเซะ (Bake ichō no sei) เป็นวิญญาณประจำต้นแปะก๊วย พวกมันมีส่วนสูงมาก ผิวสีเหลืองสดใสเหมือนกับใบแปะก๊วยในฤดูใบไม้ร่วง มักสวมกิโมโนสีดำเก่าขาดรุ่งริ่งและถือฆ้องขนาดเล็กเอาไว้ในมืออยู่เสมอ…
การปรากฏตัวของเบกคุยโจโนเซะ
เบกคุยโจโนเซะ มักปรากฏตัวใกล้กับต้นแปะก๊วยที่มีอายุมากและพร้อมกับลั่นฆ้อง เสียงที่ดังขึ้นอย่างกะทันหันนี้ มักทำให้คนที่สัญจรผ่านไปมาตกใจ! หรือรู้สึกแปลกๆ อย่างไรก็ตาม เท่าที่มีการบันทึกเอาไว้ เบกคุยโจโนเซะ ไม่เคยทำร้ายมนุษย์
บันทึกเกี่ยวกับเบกคุยโจโนเซะ
เบกคุยโจโนเซะ ปรากฏตัวมาอย่างยาวนานตั้งแต่ม้วนคัมภีร์แสดงภาพภูตผีของประเทศญี่ปุ่นในสมัยศตวรรษที่ 18 ที่วาดโดย “Yosa Buson” พร้อมกับคำอธิบายว่ามันเป็น “ผีต้นแปะก๊วยเก่าแก่” ในคามาคุระ อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของเบกคุยโจโนเซะมีเพียงเท่านั้น หลังจากนั้น “มามิ ซึกิเงรุ” ถึงได้ให้คำอธิบายว่าเบกคุยโจโนเซะ มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเชื่อด้านโชคลางเก่าแก่ที่มีต่อต้นแปะก๊วย
ต้นแปะก๊วยกับความเชื่อของชาวญี่ปุ่น
ชาวญี่ปุ่นชื่นชอบต้นแปะก๊วย ในฐานะของต้นไม้ที่มีความสวยงาม ทนทานต่อเปลวไฟและยังช่วยบดบังลดความแรงของสายลม แต่กลับเชื่อว่าไม่เป็นมงคลนักหากจะนำต้นแปะก๊วยมากปลูกเอาไว้ ณ สวนของบ้านด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ต้นแปะก๊วย ถือว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ส่วนใหญ่จึงมักถูกปลูกเอาไว้บริเวณศาลเจ้าหรือสวนสาธารณะหาใช่สมบัติส่วนตัว และหากใครสามารถปลูกสวนต้นแปะก๊วยของตัวเองได้ ก็จะได้รับความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ต้นแปะก๊วยยังถือว่าเป็นต้นไม้ที่เติบโตได้อย่างรวดเร็วเป็นอย่างมาก จนอาจทำให้บดบังแสงอาทิตย์ที่สาดส่องไปยังบ้าน ส่งผลให้บรรยากาศของบ้านมืดทึบตลอดเวลา ส่งผลต่อการไหลเวียนของพลัง “หยิน-หยาง” หากรากของต้นแปะก๊วยงอกอยู่ใต้บ้าน ก็ยังเป็นการแพร่กระจายโรคภัยไข้เจ็บและโชคร้ายไปสู่ครอบครัวหลายชั่วอายุคน
เหตุผลเหล่านี้ทำให้ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่า การมีต้นแปะก๊วยอยู่ในบ้านจะทำให้สมาชิกของครอบครัวดังกล่าวป่วยและเสียชีวิตอย่างรวดเร็วมากกว่าที่อื่น นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าบ้านที่มีต้นแปะก๊วยอยู่มักเกิดเหตุการณ์แสนลี้ลับมากมายเกิดขึ้นอีกด้วย ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับความเชื่อมากมายเหล่านี้เอง ที่อาจส่งผลให้เกิดความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณที่สิงสถิตอยู่ ณ ต้นแปะก๊วย อย่างเบกคุยโจโนเซะ ขึ้นมาในความเชื่อของชาวญี่ปุ่นนั่นเอง...