“ฉมบ” ผีเก่าแก่ ที่คนไทยแทบไม่รู้จัก
“ฉมบ “ เป็นหนึ่งในผีที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน โดยมีชื่อปรากฏบันทึกเอาไว้ในกฎหมายตราสามดวง คู่กับผีที่คนไทยรู้จักกันดีอย่าง “กระสือ” และ “จะกละ” ซึ่งจะกละเองก็ได้เลือนหายไปจากการรู้จักของสังคมไทยเช่นกัน เหลือไว้เพียงแค่ผีกระสือเท่านั้นที่ยังได้รับการรู้จักกันอยู่ ด้วยเอกลักษณ์หัวกับไส้ ที่มีแสงวูบวาบชวนสยองจนได้รับการขนานนามขึ้นแท่นกลายเป็นผีประจำอาเซียน เพราะในมหาราชวงษ์พงษาวดารพม่าเอง ก็ได้มีการกล่าวถึงพระมเหสีชาวเงี้ยวของพระเจ้าอนรธามังช่อ ที่มีกระธาตุเสด็จมาอยู่ที่ต่างหูจนเกิดเป็นแสงสว่างไlว จนคนเชื่อว่าพระนางเป็นกระสือจนทำให้ถูกเนรเทศ
ผีฉมบคืออะไร?
ผีฉมบ (ชมบ หรือทมบ) มีความหมายในภาษาเขมรว่า “หมอตำแย” ตามความเชื่อของชาวเขมรคือ “ผีปอบ” ที่มีความหมายว่า “กินไม่เลือก” แต่หากยึดตามพจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน “ผีฉมบ” วิญญาณของผู้หญิงที่ตายในป่าและมักสิงสู่อยู่ในบริเวณที่เสียชีวิต มักปรากฏตัวเป็นแสงหรือเงาวูบวาบให้เห็น แต่จะไม่ถึงขนาดปรากฏตัวให้เห็นเป็นรูปร่างตัวตน ซึ่งผีฉมบค่อนข้างรักสงบและไม่ทำอันตรายต่อผู้คน โดยทั่วไปผีฉมบจะออกมาให้เห็นเป็นหญิงสาวที่เดินคนเดียวอยู่ในป่า สถานที่รกร้าง หรือเส้นทางเปลี่ยวในตอนกลางดึก และถ้าบังเอิญเผชิญหน้ากันแบบเต็มตาผีฉมบมักจะยืนจ้องคนที่ได้เห็นแบบไม่ยอมหายไป แต่ส่วนใหญ่แล้วผีฉมบมักจะมาให้เห็นในริมสุดขอบหางตา พอให้เห็นถึงความผิดปกติว่ากำลังมองเห็นอะไรบางอย่างก่อนที่จะหายลับวับไปอย่างรวดเร็ว ทำให้คนที่ได้เห็นผีฉมบส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองตาฝาดนั่นเอง หรือในบางครั้งหากได้เห็นผีฉมบเดินอยู่ แล้วเดินผ่านเข้าไปใกล้ๆ ผีฉมบ ก็มักจะเลือนหายไปแบบดื้อๆ สร้างความขาอ่อนให้กับคนที่ได้เห็นอย่างมากเลยทีเดียว
การปรากฏตัวของผีฉมบ
ผีฉมบ ส่วนใหญ่มักจะเป็นวิญญาณที่มีความยึดติดอยู่กับศพของตัวเอง ที่มักจะถูกทิ้งเอาไว้ หรือถูกซ่อนอยู่ในบริเวณที่ได้เห็นผีฉมบ โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นจากการฆาตกรรม ผีฉมบ จึงปรากฏกายออกมาเพื่อแจ้ง หรือล่อหลอกให้คนที่มองเห็นเดินตามมาเพื่อนำไปยังที่ซ่อนของศพ เพื่อขอความช่วยเหลือให้นำศพส่งคืนให้กับญาติหรือทำพิธีตามศาสนาให้ถูกต้อง
โดยรวมแล้วผีฉมบ จึงเป็นวิญญาณใฝ่ดี ที่มีความห่วงใยไม่อยากให้คนอื่นมารับเคราะห์ร้ายเหมือนกับตัวเอง จึงมักปรากฏตัวให้หญิงสาวที่เผลอเข้ามาในบริเวณนั้นเพื่อเตือนภัยว่ากำลังเข้าสู่เขตอันตรายให้รีบออกไปให้เร็วที่สุด แน่นอนว่าถ้าหากหญิงสาวรายใดได้เห็นผีฉมบแบบเต็มตา รับรองว่าคงไม่มีใครใจแข็งอยากเดินเล่นอยู่แถวนั้นอย่างแน่นอน
การป้องกันตัวจากผีฉมบ
การป้องกันตัวเองจากผีฉมบสามารถทำได้ ด้วยการใช้ของขลังอย่างเช่น “กะตุด” เช่น ในปัจจุบันมีกะตุดกันผีฉมก ที่ปลุกเสกจากหลวงพ่อโต วัดบ้านกล้วย ที่มาพร้อมกับตลับขี้ผึ้ง ที่สมัยก่อนทำการแจกไว้ให้ชาวบ้านเพื่อช่วยป้องกันภูติผี ป้องกันสิ่งอัปมงคล เมื่อมีเด็กคลอดใหม่หรือหญิงท้องแก่จะนิยมให้พกติดตัวเอาไว้เพื่อเป็นศิริมงคล
ผีฉมบ กับกฎหมายตราสามดวง
ในพระราชนิพนธ์เรื่องไตรภูมิพระร่วง ได้มีการกล่าวถึงผีฉมบ ว่าเป็นหนึ่งในการลงโทษนายเมืองขี้ฉ้อ ด้วยกฎหมายลงโทษคนที่เป็นฉมบ จะกละ กระสือ กระหัง ที่มีความรุนแรงพอๆกับคนที่เป็นกบฏ เพราะเชื่อกันว่าผีสางวิญญาณร้ายเหล่านี้จะนำพาความตาย และโรคภัยมาให้กับผู้คน ดังประโยคว่า
“ท่านว่า รู้ฉมบกฤติยา รู้ว่านยา แลวิทยาคุณกระทำให้ท่านตาย ถ้าเป็นสัจจริงดั่งนั้น ให้ถามครูมันด้วย ฆ่าตัวครูมันเสียให้ตกตามกัน...”
นอกจากนี้ ในพระอายการเบ็ดเสร็จของกฎหมายตราสามดวง ในส่วนของปัญหาเรื่องผัวเมีย ที่ถูกตราขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาชู้สาวแล้วหันไปพึ่งอำนาจ “ผี” ให้ไปทำร้ายอีกฝ่ายให้เกิดการบาดเจ็บป่วยล้มตาย พร้อมกับกำหนดโทษอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นการยอมรับว่าในสมัยนั้นอำนาจของผีมีจริง อาทเช่น
“พระอายการเบ็ดเสร็จ มาตรา 149 มาตราหนึ่ง ชาย หญิง เป็นชู้เมียกันเคียดฟูนน้อยใจกัน ชายก็ดี หญิงก็ดี ไปบลต้นไม้อันทีผีให้ชายผัว ชายชูแลหญิงนั้นไข้เจ็บล้มตาย ฝ่ายผู้มิได้บลปู่เจาไข้เจ็บล้มตาย ผู้ใดไปบลปู้เจ้าพิจารณาเป็นสัจ โทษตกแก่มันผู้นั้นเสมอฉใบกฤตยากระทำท่านให้ตายนั้น”
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายมาตราที่กล่าวถึงการช้ำอนาจคุณไสย พ่อมดหมอผี ความผิดเกี่ยวกับการเป็น “กระสือ กระหาง ฉมบจะกละ” ในมาตรา 137 บัญญัติให้ “ฆ่า” ผู้รู้คุณว่านยา “ฉมบจะกละ” และให้ยึดทรัพย์เข้าพระคลังหลวงเสีย
ด้วยกฎหมายดังกล่าว หากเกิดปัญหาเรื่องชู้สาวแล้วเกิดการบนบานให้อีกฝ่ายมีอันเป็นไป หากอีกฝ่ายมีอันเป็นไปเกิดขึ้นจริง ผู้บนบานก็อาจต้องตายตกตามกันในฐานะที่เป็น “ฉมบ” หรือผีชนิดหนึ่งไปด้วยนั่นเอง
นอกจากนี้ในกฎหมายตราสามดวงหากสามารถทำการพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นฉมบ จะกละ และกระสือจริง สามารถใช้เป็นเหตุข้อต่อสู้เพื่อให้ผู้พิจารณาคดพิจารณา เพื่อให้ถูกยกฟ้องได้ในทันทีโดยไม่ต้องทำการพิจารณาคดีต่อ แต่เนื่องจากความเชื่อเกี่ยวกับผีฉมบเลือนหายไปตามกาลเวลาและการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทำให้ไม่มีใครทราบว่าผีฉมบในสมัยก่อนนั้นมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรกันแน่...