“ดายเชี่ยน” (Die-Xian) เป็นการละเล่นลี้ลับเชิงการทำนาย ในรูปแบบของการติดต่อกับวิญญาณหลังความตายที่มีความคล้ายคลึงกับ “ผีถ้วยแก้ว” ของประเทศไทย แต่แตกต่างกันที่ดายเชี่ยนจะใช้ถ้วยใส่น้ำจิ้มเป็นวัตถุนำวิญญาณแทนแก้ว นอกจากนี้ ชาวจีนยังมีการละเล่นที่คล้ายกันแต่ใช้วัสดุอื่นแทนถ้วยใส่น้ำจิ้ม เช่น เหรียญ และปากกาที่ถือด้วยผู้เล่น 2 คน ที่จะขยับเขียนตัวอักษรเพื่อตอบคำถามโดยอัตโนมัติ
ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของดายเชี่ยน
"ดายเชียน" ภาพจาก : aminoapps.com
เชื่อกันว่าต้นกำเนิดของดายเชี่ยนต้องย้อนกลับไปในประเทศจีนราว ค.ศ.1100 จากพิธีกรรม “ฝูจี” (Fuji) ที่นักพรตในลัทธิเต๋าใช้ในการอัญเชิญเทพ เทพธิดา หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อตอบข้อซักถามข้อสงสัย หลังจากนั้นได้เกิดความเชื่อเรื่อง “เทศกาลฝูจิ” ในช่วงปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติ คนทั่วไปสามารถทำการซักถามเทพเจ้าหรือวิญญาณในเกมกระดานที่เรียกว่าฝูจิได้เช่นกัน
"อุปกรณ์ในการประกอบพิธีฝูจี" ภาพจาก : taoist-sorcery.blogspot.com
ในปี ค.ศ.1960 การละเล่นฝูจี ได้รับความนิยมอย่างมากจากนักเรียนและนักศึกษาในไต้หวัน แต่เนื่องจากเป็นการละเล่นที่ดูงมงายทำให้รัฐบาลห้ามทำการขายแผ่นเกมวิญญาณนี้ แต่หลังจากนั้นมันก็กลายมาเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ “ดายเชี่ยน” ที่เป็นการเชิญวิญญาณ ผี หรือสัมภเวสี มาช่วยในตอบคำถามที่ทุกคนสามารถทำได้เหมือนกับการเล่นผีถ้วยแก้วของไทย
อุปกรณ์ที่จำเป็นในการเล่นดายเชี่ยน
ภาพจาก : www.quora.com
สำหรับอุปกรณ์ในการเล่นดายเชี่ยน มีความคล้ายกับผีถ้วยแก้วอย่างมาก โดยอุปกรณ์หลักมีแผ่นกระดาษขนาดใหญ่ที่มีตัวอักษรคำศัพท์จีนพื้นฐาน 1000 คำ หรือบางครั้งก็จะใช้การเขียนตัวอักษรลงตามมุมกระดาษอย่างง่ายๆ เช่น ใช่ ไม่ ผ่าน ล้มเหลว ตาย เป็นต้น โดยสามารถเขียนคำว่าอะไรก็ได้เพื่อให้วิญญาณสามารถตอบคำถามได้อย่างรวดเร็ว แต่มีข้อห้ามว่าอักขระต้องไม่เกิน 3 ตัว นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้นั่นก็คือ ถ้วยใส่ซอส (น้ำจิ้ม) ขนาดเล็กที่ค่อนข้างแบน ที่มีการเขียนลูกศรเอาไว้เพื่อใช้ชี้บอกตัวอักษรบนกระดาษที่มีขนาดเล็ก และธูป
การเริ่มต้นพิธีกรรมดายเชี่ยน
ภาพจาก : www.imdb.com
จำนวนของคนที่เข้าร่วมเล่นดายเชี่ยน ควรมีจำนวนอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป แต่ส่วนใหญ่นิยมเล่น 3 คน และไม่เกิน 4 คน จากนั้นผู้เล่นจะทำการจุดธูปเพื่อเป็นการแสดงความเคารพ และบอกกล่าวว่าจะขอคำปรึกษาจากวิญญาณเหล่านั้น หลังจากนั้นผู้เล่นทุกคนจะทำการนั่งล้อมแผ่นกระดาษตัวอักษร แล้วนำถ้วยใส่ซอสคว่ำลงไปตรงกลางของแผ่นกระดาษ จากนั้นผู้เล่นทุกคนจะใช้นิ้วชี้วางลงไปบนหลังถ้วยใส่ซอส แล้วทำการสวดคาถาว่า
“ Die Xian, Die Xian Qing Ni Kuai Chu Lai” (พระเจ้าในจาน / ถ้วย โปรดแสดงตัว)
พร้อมกับออกปากอัญเชิญให้วิญญาณเข้ามาสิงสู่ในถ้วยใส่ซอส จำนวน 2-3 ครั้ง เมื่อวิญญาณเข้าสิงสู่แล้ว ถ้วยใส่ซอสจะเคลื่อนที่เป็นวงกลมไปเรื่อยๆ มาถึงขั้นตอนนี้ผู้เล่นสามารถถามคำถามจากวิญญาณได้คนละ 1 ข้อ ผลัดกันตามเข็มนาฬิกา เมื่อมีคำถามถ้วยใส่น้ำจิ้มจะเวียนเป็นวนกลมจนกระทั่งไปหยุดที่ตัวอักษรต่างๆ เมื่อนำมารวมกันก็จะกลายเป็นคำตอบ ชาวจีนเชื่อกันว่าดายเชี่ยน สามารถตอบคำถามได้เกือบทุกอย่าง แม้แต่การขอเลขเด็ด!? และเมื่อคำถามทั้งหมดได้คำตอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้เล่นทั้งหมดจะต้องกล่าวว่า
"Die Xian, Die Xian, Qing Ni Li Kai" (ดายเชี่ยน ดายเชี่ยน โปรดออกไป)
ภาพจาก : www.imdb.com
พร้อมกับกล่าวคำขอบคุณวิญญาณที่สิงสถิตอยู่ในถ้วยใส่น้ำจิ้ม ถ้าหากวิญญาณยินยอม หลังจากที่กล่าวขอบคุณสักพักหนึ่ง ถ้วยน้ำใส่น้ำจิ้มก็จะวนเป็นวงกลมกลับไปหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางของกระดาษหลังจากนั้นผู้เล่นก็จะสามารถทำการยกนิ้วออกจากถ้วยใส่น้ำจิ้มได้ แต่ถ้าหากวิญญาณยังไม่ยอม ถ้วยใส่น้ำจิ้มจะวนเป็นวงกลม หรือเคลื่อนที่ซิกแซกไปมาตามจุดต่างๆของกระดานที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เต็มใจที่จะกลับไปยังจุดศูนย์กลางของกระดาษ โดยมักเกิดขึ้นจากสองกรณีคือ การ “ละเมิดข้อห้าม” และ “วิญญาณต้องการตัวผู้เล่น” ถ้าหากเกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้น ผู้เล่นจะต้องอดทนและรอจนกว่าถ้วยใส่น้ำจิ้มจะกลับมาอยู่ในจุดศูนย์กลางด้วยตัวเอง บางตำรากล่าวว่า หลังจากที่ถามคำถามดายเชี่ยนเสร็จ และถ้วยกลับสู่จุดศูนย์กลางเรียบร้อยแล้ว ผู้เล่นทุกคนต้องหยดเลือดจากนิ้วลงบนจานเพื่อเป็นการเซ่นไหว้วิญญาณอีกด้วย จากนั้นให้ทำการเผาทำลายกระดาษ และทุบถ้วยที่ใช้เป็นอุปกรณ์ในการเล่นทิ้งเสีย (ในบางตำราห้ามไม่ให้เผาทำลายกระดานกระดาษถ้าหากไม่พอใจคำตอบจากวิญญาณ)
ดายเชี่ยน ข้อห้ามและความเสี่ยง
"ดายเชี่ยน โดยใช้ปากกา" ภาพจาก : www.imdb.com
ชาวจีนมีคำพูดติดปากในการเล่นดายเชี่ยนว่า “ง่ายต่อการเชิญวิญญาณ (หรือเทพ) แต่ยากที่จะส่งกลับ” หากผู้เล่นไม่เข้าใจวิธีการเชิญวิญญาณกลับอย่างเหมาะสม แล้วทำการฝืนยกนิ้วออกจากถ้วยใส่น้ำจิ้มในขณะที่ยังไม่กลับไปยังศูนย์กลางของกระดาษก็อาจทำให้หนึ่งในผู้เล่นถูกวิญญาณเข้าสิง ทำให้เกิดการซึมเศร้า ร้องไห้อย่างไร้เหตุผล เจ็บป่วยหนัก อาเจียน หน้ามืดบ่อย เลือดออกอย่างไร้สาเหตุ มีวิญญาณตามไปทุกหนแห่ง เห็นสิ่งลี้ลับบางอย่างที่ไม่ควรมีตัวตน และในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือการพยายามฆ่าตัวตาย และ “ความตาย” นอกจากนี้ บางคำถามยังถูกห้ามอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะคำถามที่เกี่ยวกับตัวของวิญญาณ หรือคำถามที่แสดงความไม่เคารพต่อวิญญาณ เช่น คุณตายแล้ว หรือยังมีชีวิตอยู่? เป็นต้น
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการไม่ทำตามกฎในการเล่นดายเชี่ยนอย่างเคร่งครัด จากกรณีของนักเรียนมัธยมหญิง 8 คน ในไถหนาน ไต้หวัน ที่ทำการเล่นดายเชี่ยนตั้งแต่เที่ยงคืนจนกระทั่งรุ่งเช้า หลังจากที่จบการเล่น ผู้เล่นทุกคนถูกส่งไปยังโรงพยาบาลด้วยร่างกายที่เต็มไปด้วยร่องรอยบอบช้ำ บางคนกรีดร้อง ร้องไห้ หรือพึมพำกับตัวเอง แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นอาการทางจิต ในขณะที่นักเรียนหญิงเหล่านั้นอ้างว่าได้พบกับสิ่งที่สยดสยอง แต่ไม่มีใครยอมบอกว่าได้เห็นสิ่งใดมากันแน่?
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง : Die Xian Gui Tan (2014)
ดายเชี่ยน มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับผีถ้วยแก้วไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะค่าตอบแทนในการอยากล่วงรู้อนาคตที่หลายครั้งอาจต้องแลกมาด้วย “ชีวิต” ของผู้เล่น แต่ดูเหมือนว่ามนุษย์ไม่ว่าจะชนชาติใด ยุคสมัยไหนก็ยังคงไม่หลาบจำและพร้อมที่จะเสี่ยงในการปลดเปลื้องความอยากรู้อยากเห็นของตัวเอง โดยแลกเปลี่ยนกับความลี้ลับที่แอบซ่อนตัวอยู่ในส่วนที่ดำมืดที่สุดของโลก...