ท้าวกุเวร เทพผู้คุ้มครองจตุโลกบาลแห่งทิศเหนือ
ท้าวกุเวร... มีศักดิ์เป็นหนึ่งในสี่ ของจาตุมหาราช ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองเหล่ายักษ์ รากษส คุหยัก กินนรและกินรี เป็นตัวแทนของเทพแห่งความมั่งคั่ง ซึ่งในศาสนาพุทธและฮินดูนับถือท้าวกุเวรว่าเป็นเทพประจำทิศเหนือ (ทิศอุดร) และทำหน้าที่เป็นผู้คุ้มครองโลกบาล นอกจากนี้ท้าวกุเวร ยังมีบทบาทในหลายวัฒนธรรมความเชื่อ ดังต่อไปนี้
- ท้าวกุเวร ในความเชื่อทางตะวันตก = เทพพลูตอส ในเทพปกรณัมกรีก
- ท้าวกุเวร ในศาสนาพุทธ = ท้าวเวสวัณ ผู้ดูแลจตุโลกบาลทิศเหนือ อยู่บนเขาพระเมรุซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และทำหน้าที่เฝ้าทางเข้าสวรรค์
- ท้าวกุเวร ในศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน = พระชมภละ เป็นหนึ่งในพระโพธิสัตว์ มีหน้าที่ในการปราบยักษ์มารที่ตั้งตนเป็นศัตรูกับพุทธศาสนา
- ท้าวกุเวร ในศาสนาพุทธ นิกายเซน = ศารสนุภูติ มี 4 พักต์ 4 กร กายสีรุ้ง ทรงช้างเป็นพาหนะ
นอกจากนี้ ท้าวกุเวรยังมีนามอื่นอีกมากมายอาทิเช่น พระไวศรวัณ พระยักษราช พระมยุราช พระธนบดี พระธเนศวร พระธนัท พระอิจฉาวสุ พระรากษเสนทร์ พระรากษสาธิปติ พระนรราช พระนรวาหนะ และพระอีศะสขี เป็นต้น
ลักษณะที่น่าสนใจของท้าวกุเวร
ท้าวกุเวร มีลักษณะทางกายที่เปลี่ยนแปลงไปขึ้นอยู่กับความเชื่อในแต่ละศาสนา โดยได้มีการอธิบายถึงลักษณะของท้าวกุเวรเอาไว้อย่างหลากหลาย ดังต่อไปนี้
1.ท้าวกุเวร ในความเชื่อของศาสนาฮินดู
ท้าวกุเวร ในคติฮินดูเชื่อกันว่ามีลักษณะเป็นบุรุษกายสีทองหรือสีแดง รูปร่างอ้วนทองใหญ่ ตัวเล็ก นันัยน์ตาสีทอง มี 2 กร กรหนึ่งทรงคทา กรหนึ่งอุ้มพังพอน สวมมงกุฎทองคำ มีรัศมีสีทองเปล่งประกาย ทรงเครื่องประดับด้วยทองคำและอัญมณีประทับนั่งบนบัลลังก์ ทรงม้าหรือมนุษย์เป็นพาหนะ
ในศาสนาฮินดู ได้มีการอธิบายลักษณะและเรื่องราวของท้าวกุเวร โดยแบ่งออกเป็นสองแหล่งอ้างอิงจากคัมภีร์ “ฤคเวท” กับ “ปุราณะ” ดังนี้
ท้าวกุเวรในคัมภีร์ฤคเวท
ท้าวกุเวร มีลักษณะเป็นยักษ์แคระ ได้รับการนับถือเป็นเทพแห่งโจรและการลักทรัพย์ มักอาศัยอยู่ในเขตป่าเขา มีที่พักเป็นถ้ำลึกที่ใช้เป็นที่เก็บซ่อนสมบัติ เหล่าโจรเชื่อว่าการบูชานับถือท้าวกุเวรจะช่วยทำให้การปล้นประสบความสำเร็จ ช่วยปกป้องคุ้มภัยจากภูตผีปีศาจและท้าวกุเวรยังคอยเฝ้าปกป้องทรัพย์สินเงินทองที่ปล้นชิงมาให้อีกด้วย
ท้าวกุเวรในคัมภีร์ปุราณะ
ท้าวกุเวร มีศักดิ์เป็นบุตรของพระวิศวะมุนี กับนางอลาวิฑา เป็นหลานของฤาษีปลัสตยะ ในอดีตชาติท้าวกุเวร เคยเป็นพราหมณ์ ชื่อ ยาคทัตต์ที่มีนิสัยชื่นชอบการลักขโมย วันหนึ่งได้เข้าไปหลบซ่อนตัวในวิหารร้างของพระศิวะและได้ทำการจุดไฟเพื่อทำการบูชาทำให้พระศิวะทรงพอพระทัย ต่อมาได้ถูกจับได้และถูกลงโทษประหาร พระศิวะทรงส่งสาวกไปรับวิญญาณและส่งไปเกิดใหม่จนและยังคงจุดไฟบูชาพระศิวะเช่นเดิมทุกครั้ง จนกระทั่งเกิดใหม่พร้อมกับบำเพ็ญตบะจนพระศิวะพอใจ จึงได้แต่งตั้งให้กลายเป็นเทพแห่งทรัพย์และเทพโลกบางประจำทิศเหนือพร้อมกับปกครองเมืองลงกา หลังจากนั้นท้าวกุเวรได้ถูกชิงเมืองลงกาไป พระศิวะจึงได้มอบเมืองใหม่ให้ในชื่อของ “อลกา” ตั้งอยู่บนเขาคันธมาทน์
2.ท้าวกุเวร ในความเชื่อของศาสนาพุทธ
ในคติไทยได้มีการกล่าวถึงลักษณะที่น่าสนใจของท้าวกุเวรเอาไว้ ดังต่อไปนี้
“ท้าวกุเวร” มีลักษณะเป็นยักษ์ที่มีกายสีทองหรือสีเขียว รูปร่างใหญ่กำยำ นัยน์ตาโพลงเป็นประกายดังเปลวเพลิง มี 2 กร 3 ขา มีกระบองวิเศษเป็นอาวุธ สวมมงกุฎน้ำเต้า อาภรณ์สีทองประดับด้วยทองคำและอัญมณี ทรงม้าเป็นพาหนะ
เรื่องราวของท้าวกุเวร ในศาสนาพุทธรู้จักกันในชื่อของ “ท้าวเวสสวัณ” หรือ “ท้าวเสสสุวรรณ” มีศักดิ์เป็นหนึ่งในท้าวจตุโลกบาล ในอดีตชาติยุคสมัยของพระกัสสปพุทธเจ้า ท้าวกุเวรได้เกิดเป็นพราหมณ์มีนามว่า “กุเวรพราหมณ์” ที่มีทรัพย์สมบัติเป็นไร่อ้อยจำนวนมาก ทำให้มีทรัพย์สมบัติมาก เขาได้สร้างศาลาที่พักในเมือง 10 แห่ง แจกน้ำอ้อยให้ผู้เข้าพักได้ดื่มกิน และทำทานเป็นเวลากว่า 20,000 ปี ตามอายุขัยของคนในยุคนั้น หลังจากนั้นจึงได้ไปเกิดเป็นท้าวกุเวร มีสีผิวกายดั่งน้ำอ้อย ทำหน้าที่ปกครองพวกยักษ์ อาศัยอยู่ในสวรรค์ชั้นจาตุรมหาราชิกาด้านทิศเหนือ มีกระบองวิเศษคู่ใจชื่อว่า “มหากาล” ที่มีคุณสมบัติในการทำลายล้างโลกธาตุได้อย่างง่ายดาย
3.ท้าวกุเวร ในมหากาพย์รามเกียรติ์
ท้าวกุเวร ในรามเกียรติ์เป็นพี่น้องต่างมารดาของทศกัณฐ์ มีรูปร่างพิการ ผิวขาว มีฟัน 8 ซี่และขาสามขา อาศัยอยู่ในเมืองอลกา บนภูเขาหิมาลัย มีสวนอุทยานอยู่บนไหล่เขาเป็นที่อาศัยของเหล่ากินรีและคนธรรพ์ เป็นบริวารรับใช้ ซึ่งในภายหลังทศกัณฐ์ได้ทำการแย่งบุษบกที่พระพรหมได้ประทานให้กับท้าวท้าวกุเวรไป ซึ่งบุษบกดังกล่าวมีความสามารถในการลอยไปมาในอากาศได้อย่างใจนึก แต่ห้ามมิให้หญิงที่ร่วมประเวณีจากสามชายนั่ง ภายหลังนางมณโฑได้นั่งบุษบกทำให้หมดอิทธิฤทธิ์
ท้าวกุเวรกับความเชื่อในการปกปักรักษาของคนไทยโบราณ
โดยสรุปแล้วท้าวกุเวรมักถูกเคารพในสองรูปลักษณ์ดังต่อไปนี้
- ท้าวกุเวร ที่ปรากฏตัวเป็นชายพุงพลุ้ย ได้รับการนับถือในฐานะของเทพแห่งโชคลาภ
- ท้าวกุเวร (ท้าวเวสสุวรรณ) ที่ปรากฏตัวเป็นยักษ์ ได้รับการเคารพนับถือในฐานะของเครื่องราวของขลัง ในการช่วยปกป้องจากภูตผีปีศาจ
ในสมัยก่อนนิยมนำผ้ายันต์รูปยักษ์ ที่เป็นบริวารของท้าวกุเวรมาผูกเอาไว้ที่หัวเตียงนอนเด็ก เพื่อเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้วิญญาณชั่วร้ายไม่ให้มารังควาน อันเป็นความเชื่อที่ถูกอ้างอิงจากอาฎานาฎิยปริตว่าเหล่าเทวดาในสวรรค์ชั้นจตุมหาราชิกมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ท้าวกุเวรได้ทำการถวายสัตย์ที่จะช่วยเหลือดูแลพระพุทธเจ้าและเหล่าสาวก ไม่ให้ยักษ์และบริวารของท้าวจตุโลกบาลไปรังควาน
นอกจากนี้คนที่ประกอบอาชีพเป็นสัปเหร่อ หรือ เพรฆาตประหารนักโทษ มักพกรูปของท้าวกุเวรคล้องคอติดตัวเอาไว้เพื่อใช้เป็นเครื่องรางของขลังปกป้องตัวเองจากวิญญาณร้ายที่จะตามมาหลอกหลอนจากการทำหน้าที่ในภายหลัง
คาถาบูชาท้าวกุเวร
คัมภีร์โบราณได้มีการบันทึกเกี่ยวกับบทคาถาในการกล่าวเพื่อบูชาท้าวกุเวร ให้ช่วยในเรื่องของลาภยศ ทรัพย์สินเงินทอง อำนานาจและวาสนา โดยกล่าวคำอธิฐานต่อรูปปั้นของท้าวกุเวร พร้อมกับบริกรรมคาถาบูชาประจำวัน ดังต่อไปนี้
*ตั้งนะโม 3 จบ
“อิติปิโสภะคะวา ยมมะราชาโน ท้าวเวสสุวรรณโณมรณังสุขัง อะหังสุคะโต นะโมพุทธายะท้าวเวสสุวรรณโณ จตุมหาราชิกา ยักขะพันตา ภัทภูริโตเวสสะ พุสะ พุทธัง อะระหัง พุทโธ ท้าวเวสสุวรรณโณ นะโมพุทธายะ”
บทสรุปส่งท้าย : ท้าวกุเวรกับสังคมไทยในปัจจุบัน
ภาพจาก : kornbykorn.blogspot.com
แม้เวลาจะล่วงเลยผ่านมาอย่างยาวนาน... และโลกมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ แต่เรื่องราวความเชื่อแรงศรัทธาที่มีต่อท้าวกุเวรของคไทยก็ยังคงไม่เสื่อมคลาย เพราะที่จริงแล้วท้าวกุเวรนั้น มีหลากหลายนามและทำหน้าที่แตกต่างกันไปในหลายศาสนา แม้ชื่อเสียงเรียงนามจะไม่เหมือนกันแต่สุดท้ายแล้วท้าวกุเวรก็ยังคงเป็นหนึ่งในเทพที่คอยทำหน้าที่ปกป้องมนุษย์ในหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับว่าคนเหล่านั้นให้ความเคารพศรัทธาท้าวกุเวรในฐานะใด...
อ้างอิง :
ประวัติท้าวเวสสุวรรณ ท้าวกุเวร