นกออก นกผีสิง ตำนาน เรื่องเล่าหรือเพียงมายาบันเทิง!?
นกออก.. เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ของนกขนาดใหญ่ที่คนทั่วไปเข้าใจว่า นกประเภทนี้เป็น “สัตว์ผีสิง” ที่มีสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนในอดีตเป็นอย่างมาก แต่ที่จริงแล้วเรื่องราวของนกออกจะเป็นเช่นใด น่ากลัวอย่างที่เล่าลือกันหรือเปล่า มาเจาะลึกเรื่องราวของนกออกผ่านบทความชิ้นนี้กัน
นกออก หรือนกอินทรีทะเลท้องขาว
นกออก หรือ นกอินทรีทะเลท้องขาว (Haliaeetus leucogaster) เป็นนกขนาดใหญ่ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของเหยี่ยวและนกอินทรี ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีรูปร่างลักษณะที่ค่อนข้างคล้ายกัน เมื่อโตเต็มวัยบริเวณหัวและลำตัวด้านล่านจะมีสีขาว ด้านบนมีสีน้ำตาล หางและปีกมีสีเข้ม ปลายหางสีขาว ในขณะที่บินจะมีการทำมุมปีกค่อนข้างหักเป็นมุมเหนือลำตัว มีขนาดใหญ่ประมาณ 66-69 ซ.ม. และใช้เวลาประมาณ 3 ปี ถึงจะเติบโตอย่างเต็มที่
ส่วนใหญ่แล้วนกออกมักที่จะอาศัยทำรังอยู่ตามชายฝั่งทะเล ทะเลสาบหรือแม่น้ำขนาดใหญ่ใกล้กับมนุษย์ โดยใช้รังเป็นสถานที่เก็บสะสมอาหารอย่างเช่น ปลา งูทะเล เป็นต้น การล่าเหยื่อมักจะเกาะอยู่บนกิ่งไม้ใกล้แหล่งน้ำเพื่อเฝ้ารอเหยื่อหรือร่อนไปในอากาศ เมื่อพบก็บินโฉมลงไปจับเหยื่อใกล้ผิวน้ำด้วยกรงเล็บแล้วนำไปฉีกกินบนต้นไม้หรือที่รัง นกออกจะออกไข่สีขาวครั้งละ 2 ฟอง โดยทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันฟักไข่และเลี้ยงลูกอ่อน ซึ่งในประเทศไทยมีการพบนกออกบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกและภาคใต้ ในปัจจุบันมีจำนวนไม่มากนักจึงได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชาบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535
ตำนานของพญานกออกในนิทานชาดก
พญานกออกปรากฏตัวในบันทึก อรรถกถา มหาอุกกุสชาดก ในตอนว่าด้วยสัตว์ 4 สหาย เรื่องราวมีใจความที่น่าสนใจว่าในอดีตกาล ครั้งหนึ่งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในนครพาราณสี ชาวปัจจันตชนบทเหล่านั้นได้เนื้อมากๆ ในที่ใดๆ ก็พากันตั้งบ้านขึ้นในที่นั้นๆ แล้วพากันเที่ยวในป่าฆ่ามฤคเป็นต้น ขนเนื้อมาเลี้ยงลูกเมีย ในไม่ไกลจากบ้านของพวกนั้น มีสระใหญ่เกิดเองอยู่ ด้านขวาของสระนั้นมีเหยี่ยวตัวหนึ่ง ด้านหลังมีนางเหยี่ยวตัวหนึ่ง ด้านเหนือมีราชสีห์ ด้านตะวันออกมีพญานกออกอาศัยอยู่ ส่วนในที่ตื้นกลางสระ เต่าอาศัยอยู่
ครั้งนั้น เหยี่ยวกล่าวกับนางเหยี่ยวว่า เป็นภรรยาข้าเถิด. นางเหยี่ยวจึงกล่าวกะเขาว่า ก็แกมีเพื่อนบ้างไหมล่ะ. ตอบว่า ไม่มีเลย. นางกล่าวว่า เมื่อภัยหรือทุกข์บังเกิดแก่เรา เราต้องได้มิตรหรือสหายช่วยแบ่งเบา จึงจะควร แกต้องผูกมิตรก่อนเถิด. ถามว่า นางผู้เจริญ เราจะทำไมตรีกับใครเล่า. ตอบว่า แกจงทำไมตรีกับพญานกออกที่อยู่ด้านตะวันออก กับราชสีห์ที่อยู่ด้านเหนือ กับเต่าที่อยู่กลางสระ. เขาฟังคำของนางแล้วรับคำ ได้กระทำตามนั้น. ครั้งนั้น เหยี่ยวทั้งคู่ก็ได้จัดแจงที่อยู่ เขาพากันทำรังอาศัยอยู่ ณ ต้นกระทุ่ม อันอยู่บนเกาะแห่งหนึ่งในสระนั้นเอง มีน้ำล้อมรอบ.
ครั้นต่อมาเหยี่ยวทั้งคู่ก็ได้ให้กำเนิดลูกน้อยสองตัว. ขณะที่ลูกเหยี่ยวทั้งสองยังไม่มีขนปีกนั้นเอง วันหนึ่งชาวชนบทเหล่านั้นพากันตระเวนป่าตลอดวัน ไม่ได้เนื้ออะไรๆ เลย คิดกันว่า พวกเราไม่อาจไปเรือนอย่างมือเปล่าได้ ต้องจับปลาหรือเต่าไปให้ได้ พากันลงสระไปถึงเกาะนั้น นอนที่โคนต้นกระทุ่มต้นนั้น เมื่อถูกยุงเป็นต้นรุมกัดก็ช่วยกันสีไฟก่อไฟ ทำควันเพื่อไล่ยุงเป็นต้นเหล่านั้น. ควันก็ขึ้นไปรมนกทั้งหลาย. ลูกนกก็พากันร้อง ชาวชนบทได้ยินเสียงต่างกล่าวว่า ชาวเราเอ๋ย เสียงลูกนก ขึ้นซี มัดคบเถิด หิวจนทนไม่ไหว กินเนื้อนกแล้วค่อยนอนกัน พลางก่อไฟให้ลุกแล้วช่วยกันมัดคบ. แม่นกได้ยินเสียงพวกนั้นคิดว่า คนพวกนี้ต้องการจะกินลูกของเรา เราผูกมิตรไว้เพื่อกำจัดภัยทำนองนี้ ต้องส่งผัวไปหาพญานกออกแล้วกล่าวว่า ไปเถิดนายจ๋า ภัยบังเกิดแก่ลูกของเราแล้วละ จงบอกแก่พญานกออกเถิด
เมื่อพญานกออกทราบเรื่องก็ได้มาช่วยเหลือผัวเมียนกเหยี่ยวด้วยการบินมาจับที่ยอดต้นไม้ต้นหนึ่ง แล้วมองดูทางขึ้นของพวกชาวป่าไม่ไกลจากต้นกระทุ่ม เมื่อชาวป่าขึ้นบนต้นกระทุ่มพญานกออกก็จะใช้ปีกและปากนำน้ำมาราดดับคบไฟ ชาวป่าก็ถอยกลับลงมาจุดคบไฟใหม่แล้วปีนต่อ พญานกออกก็ดับไฟเช่นเดิมวนเวียนเรื่อยไปจนถึงเที่ยงคืน พญานกออกก็เริ่มเหน็ดเหนื่อยมากจนพังผืดใต้ท้องหย่อน ตาทั้งคู่แดงก่ำ แม้เหยี่ยวจะพยายามขอให้พญานกออกหยุดพัก แต่พญานกออกก็ยังยืนยันที่จะทำการปกป้องรังของเหยี่ยว แม้ตัวตายเพราะเป็นเรื่องธรรมดาของสัตบุรุษทั้งหลายที่พึงทำต่อมิตรสหาย เหยี่ยวจึงได้ไปขอความช่วยเหลือจากเต่าและราชสีห์จนทำให้ชาวป่าเหล่านั้นหวาดกลัวยอมแพ้ที่จะกินลูกนกไปในที่สุด และพญานกออกได้เป็นสัญลักษณ์ของผู้แกล้วกล้า ในภายหลังพญานกออกได้กลายมาเป็น “พระสารีบุตร”
นกออกกับภาพยนตร์โทรทัศน์ที่สร้างตำนาน “นกผี”
ในปี 2548 ช่อง 7 ได้ทำการฉายละครเรื่อง “นกออก” โดยมีเรื่องย่อดังต่อไปนี้
ทุกวันที่ 8 และ 15 ค่ำ จะมีชาวบ้านที่เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาคนแล้วคนเล่า ทุกศพจะมีร่องรอยเหมือนกับการถูกนกขนาดใหญ่เข้าจิกทำร้าย และควักหัวใจของศพหายไป ทำให้ชาวบ้านต่างลือกันว่าเป็นฝีมือของ “นกออก” วิญญาณร้านที่สิงสู่อยู่ในตัวนกยักษ์ที่เต็มไปด้วยความชั่วร้ายและอำนาจเวทมนตร์ ที่จะยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้นในช่วงวันที่พระจันทร์เต็มดวงทำให้ชาวบ้านต่างตกอยู่ในความหวาดกลัวเป็นอย่างมาก โดยเรื่องราวอาถรรพ์นี้เกี่ยวโยงกับรูปปั้นของหินโบราณที่มีลักษณะเป็นรูปนกที่มีหน้าตาน่ากลัว และผู้ที่เกิดในวันอังคาร เพ็ญ 15 ค่ำ เท่านั้น ถึงจะสามารถไขปริศนาและอำนาจลึกลับดังกล่าวได้
นกออกกับความเชื่อของคนไทย
วัดปทุมคงคา (วัดนกออก)
ในปัจจุบันนกออกได้ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อของสถานที่หลายแห่งในประเทศไทย เช่น ตำบลนกออก ในอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา มีวัดนอกออก เป็นโบราณสถานท้องถิ่น (ลาวและโคราช) แหลมนกออก บนเกาะยาวใหญ่ จ.พังงา ซึ่งสถานที่เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวพันกับเรื่องราวของนกออกเพียงแค่เป็นถิ่นอาศัยของนกออกเป็นจำนวนมากนับตั้งแต่อดีตเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมนกออก หรือ ประติมากรรมสี่แยกนกอินทรี (SEA EAGLE TRAFFIC LIGHT ) โดยเทศบาลกระบี่ เพื่อเป็นการรณรงค์ให้คนช่วยกันอนุรักษ์นกออกให้ยังคงอยู่คู่กับขุนเขาและสายน้ำเมืองกระบี่ นอกจากนี้ยังเป็นวิสัยทัศน์ของผู้บริหารเทศบาลเมืองกระบี่ว่า “บินให้สูง มองให้ไกล ไปให้ถึง” จำนวนสองจุดคือ หลักกิโลเมตรที่ศูนย์ ใกล้กับประติมากรรมปูดำ และบริเวณสี่แยกถนนมหาราช แยกถนนรอดบุญ และถนนหุตางกูร เรียกว่า สี่แยกนกอินทรี
บทสรุปส่งท้าย : นกออก คือ นกผีหรือเปล่า!?
จากข้อมูลในเชิงประวัติศาสตร์และความเชื่อในข้างต้นจะเห็นได้ว่า เรื่องราวของนกออกนั้นที่จริงแล้วไม่ได้เกี่ยวพันกับเรื่องราวเหนือธรรมชาติ ลี้ลับและความตายอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ เพราะที่จริงแล้วนกออกถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความกล้าหาญและวิสัยทัศน์ แต่เหตุผลที่ทำให้นกออกกลายมาเป็นหนึ่งในรายชื่อของสัตว์ผีสิงในปัจจุบัน เป็นเพราะเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดผ่านบทละครเรื่องนกออกทางโทรทัศน์ ที่เกิดขึ้นจากจินตนาการของผู้สร้างสรรค์ที่ได้เห็นลักษณะของนกออกที่มีขนาดใหญ่น่าเกรงขามจนน่าจะสามารถโจมตีมนุษย์ได้ ทั้งที่ในความจริงแล้วนกออกเป็นสัตว์รักสงบที่ชอบทำรังอยู่ใกล้กับแหล่งพักอาศัยของมนุษย์นั่นเอง...