อมรณา สารานุกรมแห่งความตาย อมรณา สารานุกรมแห่งความตาย
close ad block
  • เรื่องผีสั้นๆ
  • หนังสยองขวัญ การ์ตูนผี และเพลงต้องสาป
  • เกมผี เกมสยองขวัญ
  • E-Book

เจ้าที่เจ้าทาง เซ่นไหว้ให้เหมาะพิทักษ์คุ้มครองอนันต์

  • 22-06-2025
  • มือปริศนา
  • 7,079
Line borderless Line borderless
เจ้าที่เจ้าทาง เซ่นไหว้ให้เหมาะพิทักษ์คุ้มครองอนันต์

 

 

เจ้าที่เจ้าทาง คืออะไร!?

 

            เจ้าที่เจ้าทาง... ตามความเชื่อของคนโบราณ คือ ดวงวิญญาณของผู้ที่มีความรัก ความผูกพันกับบริเวณใด บริเวณหนึ่ง หรือพื้นที่ใด พื้นที่หนึ่ง ทำให้เมื่อเสียชีวิตไปแล้ว ดวงวิญญาณจะปฏิเสธการไปสู่สุขคติ และวนเวียนอยู่ในพื้นที่ที่มีความห่วงหาอาวรณ์กระทั่งกลายเป็นเจ้าที่เจ้าทางในที่สุด นอกจากนี้ยังเชื่อกันอีกว่า เจ้าที่เจ้าทาง เป็นภพภูมิอยู่ในอาณาเขตของบ้าน ส่วนใหญ่เจ้าที่เจ้าทางจะไม่เข้าไปในตัวเรือน แต่จะอาศัยอยู่ในเขตรั้วบ้าน ซึ่งเจ้าที่เจ้าทางบางดวงอาจสิงสถิตอยู่ ณ พื้นที่เหล่านั้นมานานตั้งแต่ก่อนที่จะมีการเริ่มสร้างบ้านเรือนขึ้นมาเสียอีก...

 

ศาลเจ้าที่เจ้าทางมีลักษณะอย่างไร!?

            ศาลเจ้าที่เจ้าทางจะมีลักษณะเหมือนกับบ้านเรือนในสมัยก่อน โดยจะมีเสาจำนวน 4-6 ต้น ความสูงของระเบียงศาลจะเทียบเท่ากับระดับสายตาของผู้กราบไหว้ขณะนั่งคุกเข่า ทำให้จึงมักถูกเรียกว่า “ศาลเพียงตา” นอกจากนี้ ยังนิยมนำพ่อแก่ แม่เฒ่า มาวางเอาไว้ในศาลเพื่อเป็นตัวแทนของเจ้าที่เจ้าทาง นอกจากนี้ศาลเจ้าที่เจ้าทางยังสามารถแบ่งออกได้เป็นอีก 2 ประเภท ดังต่อไปนี้

ศาลเจ้าที่แท้

            เป็นวิญญาณเจ้าของที่ดินดั้งเดิมที่หวงแหน คอยปกปักรักษาพื้นที่ของตัวเองโดยไม่ยอมไปผุดไปเกิด

ศาลเจ้าที่จร

            เป็นวิญญาณเร่รอนที่สิงสถิตอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว

 

            จากความแตกต่างดังกล่าว ทำให้ก่อนทำการตั้งศาลเจ้าที่เจ้าทางทุกครั้ง จำเป็นจะต้องมีการทำพิธีเพื่อตรวจสอบว่าในบริเวณนั้นมีเจ้าที่เจ้าทางอยู่หรือไม่!? ไม่เช่นนั้น ศาลที่ถูกตั้งขึ้นจะกลายมาเป็นศาลที่ว่างเปล่า นอกจากนี้ยังจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงการตั้งศาลเจ้าที่เจ้าทางให้มีทิศทาง และตำแหน่งที่ถูกต้องเหมาะสมด้วยเช่นกัน

 

ข้อกำหนดที่ควรทราบในการตั้งศาลเจ้าที่เจ้าทาง

o   ศาลเจ้าที่เจ้าทางต้องตั้งให้พ้นจากชายคาบ้านเสมอ

o   ศาลเจ้าที่เจ้าทางจะต้องตั้งในพื้นที่สะอาด ไม่มีสิ่งกีดขวางบริเวณด้านหน้า

o   ศาลเจ้าที่เจ้าทาง ต้องตั้งให้ตรงกับประตูทางเข้าบ้าน

o   ศาลเจ้าที่เจ้าทางห้ามหันหน้า หรือตั้งใกล้กับห้องน้ำ

o   ศาลเจ้าที่เจ้าทางห้ามตั้งเอาไว้ใต้บันได และบริเวณพื้นที่สัญจรไม่เงียบสงบ

o   ศาลเจ้าที่เจ้าทางห้ามตั้งเอาไว้ใต้คานบ้าน เพราะจะเป็นการลดความศักดิ์สิทธิ์ให้น้อยลง

 

เจ้าที่เจ้าทาง เป็นอันตรายกับมนุษย์หรือเปล่า!?

            โดยพื้นฐานแล้วเจ้าที่เจ้าทางไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์ ยกเว้นจะได้รับการลบหลู่ หรือไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอาศัยอยู่ หากเจ้าที่เจ้าทางมีผู้กราบไหว้บูชามาก ก็จะยิ่งทำให้มีบารมีมากขึ้น ทำให้สามารถใช้อำนาจลงโทษกับคนที่เข้ามารบกวน ลบหลู่ หรือดูหมิ่นเจ้าที่เจ้าทางได้ เช่น การใช้อำนาจบังตาให้บางคนหายไปอยู่ในมิติที่สาม ทำให้คนที่มาค้นหาไม่พบตัว และผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจแม้จะเห็นคนอื่น แต่ก็ไม่สามารถสื่อสารระหว่างกันได้ เหมือนกับการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย จนกระทั่งกลายมาเป็นที่มาของคำว่า “เจ้าที่แรง” นั่นเอง       

 

การไหว้เจ้าที่เจ้าทางมีความสำคัญอย่างไร!?

            เจ้าที่เจ้าทาง เป็นวิญญาณที่สิงสถิตอยู่ในบ้าน หรือบริเวณนั้นอยู่ก่อนแล้ว ไม่ได้ถูกทำพิธีการอัญเชิญมากจากที่ใด ดังนั้น การเซ่นไหว้จึงเป็นการแสดงความให้เกียรติกับเจ้าที่เจ้าทางเหล่านั้น และเป็นการแนะนำตัวผู้ที่อยู่อาศัยเพื่อขอให้เจ้าที่เจ้าทางมีความเมตตา ช่วยปกป้องคุ้มครองคนในบ้านนั่นเอง

 

ช่วงเวลาที่เหมาะในการไหว้เจ้าที่เจ้าทาง

            สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะในการไหว้เจ้าที่เจ้าทาง คือ ช่วงเวลาตั้งแต่ 08.39 – 10.09 น. แต่ในบางตำราเชื่อว่าควรทำการไหว้ในวันอังคาร หรือวันเสาร์ เวลา 12.00 น. ซึ่งจะเป็นเวลาที่ดีที่สุด

 

การจัดสถานที่ที่เหมาะสมในการไหว้เจ้าที่เจ้าทาง

            สถานที่ในการไหว้เจ้าที่เจ้าทางควรทำการตั้งไว้หน้าบ้าน หน้าร้าน บริเวณดาดฟ้าที่ไม่มีอะไรมาบดบังแสงแดด หรือที่เรียกกันว่ากลางแจ้งนั่นเอง

 

สิ่งสำคัญที่ควรทราบในการไหว้เจ้าที่เจ้าทาง

            ผู้ที่ต้องการไหว้เจ้าที่เจ้าทางเพื่อช่วยในการส่งเสริมกิจการ เจ้าของกิจการเหล่านั้นควรมาทำการไหว้ด้วยตัวเอง และควรทำการไหว้จนกว่าธูปจะหมดดอก ก่อนที่จะทำการลาของเซ่นไหว้เพื่อเป็นอันเสร็จพิธี สำหรับของไหว้เจ้าที่เจ้าทางนั้น ห้ามนำไปรับประทานเองอย่างเด็ดขาด ควรนำไปให้เป็นทานให้กับผู้อื่นที่มีความลำบากในการใช้ชีวิตมากกว่า ส่วนน้ำเซ่นไหว้ให้นำไปทำการกรวดน้ำ ซึ่งการทำเช่นนั้น เจ้าที่เจ้าทางจะได้รับอานิสงส์จากผู้ที่ทำการเซ่นไหว้ ทำให้ได้รับบุญบารมีอำนาจมากขึ้น ส่งผลให้เจ้าที่เจ้าทางสามารถทำการช่วยเหลือหรือให้พรสมประสงค์กับที่ทำการบนบานเอาไว้

 

เครื่องเซ่นไหว้สำหรับเจ้าที่เจ้าทาง

            สำหรับการจัดเตรียมเครื่องไหว้เจ้าที่เจ้าทางนั้นจะมีความแตกต่างกันพอสมควรระหว่างการไหว้แบบไทย กับการไหว้แบบจีน โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

 

1.เครื่องเซ่นไหว้เจ้าที่เจ้าทางแบบจีน

            ในส่วนของเซ่นไหว้เจ้าที่เจ้าทางแบบจีนนั้น ต้องจัดเตรียมน้ำชา 5 ถ้วย น้ำเปล่า 1 ถ้วย กระดาษไหว้ 1 ชุด (*หากเป็นวันพระของจีน ให้ทำการเตรียมขนมและผลไม้มงคลเพิ่ม)

 

2.เครื่องเซ่นไหว้เจ้าที่เจ้าทางแบบไทย

            ในการเซ่นไหว้เจ้าที่เจ้าทาง มีเครื่องเซ่นหลักที่ไม่สามารถขาดได้คือ เหล้าขาว ไก่ต้ม พวงมาลัย พานบายศรี ส่วนเครื่องเซ่นไหว้ประกอบอื่นจะถูกจัดขึ้นตามฐานของผู้ไหว้อย่างไม่ตายตัว นอกจากนี้ยังมีความเชื่อในความนิยมนำ “ของหอม” หรือ “เครื่องหอม” ที่มีกลิ่นอันหอมหวาน ซึ่งเปรียบเทียบได้กับกลิ่นของความดีงาม เหมือนกับกลิ่นของเทวดาที่ปรากฏในกายทิพย์ ทำให้มีการนำเครื่องหอม และดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมมาใช้ในการไหว้เจ้าที่ด้วยเช่นกัน ในบางตำราจะมีการกำหนดสิ่งของในการเซ่นไหว้เจ้าที่เจ้าทางเอาไว้อย่างเจาะจงเช่นกัน เช่น เทียน 2 เบ่ม ธูป 5 ดอก น้ำชา 5 แก้ว ดาวเรือง 9 ดอก ผลไม้ 9 ชนิด ผลไม้ 9 ชนิด (ที่มีความหมายถึงความมงคล) หมากพลู 9 คำ และผ้าขาวบาง 1 ผืน เป็นต้น

 

การไหว้เจ้าที่เจ้าทางอย่างถูกต้องเหมาะสม

            ก่อนอื่นควรทราบก่อนว่าการไหว้เจ้าที่เจ้าทางนั้น สามารถทำการแบ่งออกได้เป็นสองแบบคือ การไหว้แบบไทย และการไหว้แบบจีน โดยทั้งสองแบบนั้นมีความแตกต่างกัน โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

 

1.การไหว้เจ้าที่เจ้าทางแบบจีน หรือ “ตี่จู่เอี้ย”

            การไหว้เจ้าที่เจ้าทางแบบจีน หรือ ตี่จู่เอี้ย จะมีการจุดธูป 5 หรือ 7 ดอก โดยแบ่งเป็นการปักลงบนกระถางบริเวณหน้าตี่จู่เอี้ย (ศาลเจ้าขนาดเล็กที่มักตั้งเอาไว้บนพื้นบ้าน) จำนวน 3 หรือ 5 ดอก และปักลงบริเวณหน้าประตูบ้าน 2 ทิศ ด้านซ้ายและขวา อีกทิศละ 1 ดอก  เมื่อไหวเสร็จให้นำกระดาษไหว้ไปเผาบริเวณหน้าบ้าน เป็นอันเสร็จพิธี แต่ถ้าหากเป็นวันพระจีน ให้ทำการลาของเซ่นไหว้ พร้อมกับท่องนะโม 3 จบ แล้วกล่าวว่า “เสลังมังคลัง ยาจามิ” แล้วจึงค่อยนำกระดาษไหว้ไปเผาไฟที่หน้าบ้าน

            สำหรับการไหว้เจ้าที่เจ้าทางแบบจีนจะนิยมไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์กันในช่วงเช้ามืด เวลาประมาณ 06.00 – 07.00 น. ด้วยการไหว้เทพเทวดาผู้ทำหน้าที่คุ้มครองบ้านเรือน พร้อมกับทำการเผากระดาษเงินกระดาษทองกันตามความเชื่อของชาวจีน จากนั้นทำการไหว้บรรพบุรุษในช่วงสาย เวลาประมาณ 10.00 -11.00 น. ทำการไหว้ทำทานสัมภเวสีในช่วงบ่าย เวลาประมาณ 14.00 – 16.00 น. และเซ่นไหว้เทพเจ้าแห่งโชคลาภในช่วงดึก เวลาประมาณ 23.00 -01.00 น.

 

2.การไหวเจ้าที่เจ้าทางแบบไทย

            การไหว้เจ้าที่เจ้าทางจะทำการจุดธูปจำนวน 7 ดอก ไปปักที่ศาลเจ้าที่เจ้าทาง โดยศาลเจ้าที่จะมีความแตกต่างจากศาลพระภูมิ โดยสามารถสังเกตได้จากจำนวนจองเสา โดยจะมี 4-6 เสา ลักษณะเหมือนกับบ้านเรือนไทยในสมัยก่อน ในขณะที่ศาลพระภูมิจะมีเพียงเสาเดียวเท่านั้น หรือในบางครั้งอาจเรียกว่า “ศาลตายาย”

 

จำนวนของธูปที่ใช้ในการไหว้เจ้าที่เจ้าทางมีความหมายอย่างไรบ้าง!?

 

            จำนวนของธูปในการไหว้เจ้าที่เจ้าทางนั้น มีความหมายที่แตกต่างกันออกไป ดังต่อไปนี้

ธูป 1 ดอก

การไหว้เพื่อทำความเคารพเจ้าที่เจ้าทาง หรือวิญญาณภาคพื้น

ธูป 3 ดอก

การบูชาพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

ธูป 5 ดอก

การจุดธูปบูชา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ พ่อแม่ และครูบาอาจารย์

ธูป 7 ดอก

การบูชาจิตวิญญาณ ตามศาล เจ้าพ่อ เจ้าแม่ ที่เสียชีวิตไปแล้ว

ธูป 9 ดอก

การบูชาผู้มีพระคุณ พระภูมิเจ้าที่ เทพเจ้าป่า เจ้าเขา รุกขเทวดา หรือศาลพระภูมิ / ศาลเทพ

 

            อย่างไรก็ตาม หากอิงจากหนังสือพุทธโอวาทจะพบว่า การจุดธูปเพื่อทำความเคารพสักการะเจ้าที่เจ้าทาง สามารถที่จะทำได้ตามความเชื่อที่เคยได้ยิน ได้รับรู้มา แต่การบูชาที่ดีที่สุดคือการปฏิบัติชอบด้วยตนเอง ถึงจะถือว่าเป็นการบูชาที่ได้ผลดีที่สุด...

 

ขั้นตอนการประกอบพิธีเซ่นไหว้เจ้าที่เจ้าทางกลางแจ้ง

            ในการประกอบพิธีไหว้ศาลเจ้าที่เจ้าทางกลางแจ้ง สามารถทำได้ด้วยการหันหน้าเข้าบ้าน หรือศาลเจ้าที่เจ้าทาง แล้วทำการปูผ้าขาวบางเอาไว้ที่หน้าบ้าน หรือใส่พานจากนั้นนำของเซ่นไหว้ทั้งหมดวางไว้บนผ้าขาวบาง ทำการจุดธูป เทียน จากนั้นทำการกล่าวขอขมาเจ้าที่เจ้าทางว่า

            “เจ้าที่เจ้าทาง เจ้าของบ้าน เจ้าของเรือน บ้านเลขที่ ... บ้านหลังนี้ วันนี้เป็นวันดีของข้าพเจ้า .... ได้นำเครื่องสักการบูชามาตั้งถวายเพื่อขอขมากรรม หากมีสิ่งใดก็ตามที่ข้าพเจ้าได้ทำผิดไป ทั้งตั้งใจก็ดี ไม่ตั้งใจก็ดี ทั้งรู้ก็ดี ไม่รู้ก็ดี ข้าพเจ้าขออโหสิกรรมท่าน ขอท่านจงโปรดงดโทษ เว้นโทษและอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด และโปรดช่วย ..... (กล่าวคำอธิษฐานที่ต้องการ) ”

 

การลาของเซ่นเจ้าที่เจ้าทางอย่างถูกต้องเหมาะสม

            หลังจากที่ได้ทำการเซ่นไหว้เจ้าที่เจ้าทางเสร็จสิ้นแล้ว หลังจากที่ธูปหมด ให้ทำการดับเทียนจากนั้นทำการจับพานใส่เครื่องเซ่น พร้อมกับทำการกล่าวลาเครื่องเซ่นว่า “ขอเดนขอทานให้ลูกหลายกิน เพื่อความเป็นสิริมงคล” แล้วจึงนำเครื่องเซ่นเหล่านั้นไปให้ทานกับผู้อื่น

 

การเซ่นไหว้เจ้าที่จำเป็นต้องทำบ่อยเพียงใด!?

            การเซ่นไหว้เจ้าที่ไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาเอาไว้อย่างตายตัว ดังนั้น โดยทั่วไปแล้วจะขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้ไหว้ อาจจะเป็น 3 เดือนครั้ง หรือ 1 ปี ครั้ง ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่แปลกแต่อย่างใด

 

บทสรุปส่งท้าย : เจ้าที่เจ้าทาง กับกุศโลบายของคนโบราณในยุคแห่งความเชื่อ

            ในสมัยก่อน คนโบราณนำความเชื่อในเรื่องของเจ้าที่เจ้าทางมาใช้ในการช่วยให้คนในชุมชนให้เกียรติสถานที่ ไม่ให้เอะอะ โวยวายหรือกระทำสิ่งเสื่อมเสียหายรบกวนผู้อื่น เพราะวิธีการปฏิบัติตนให้เป็นที่รักของเจ้าที่เจ้าทางนั้น คือ การแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน กตัญญูต่อบิดามารดา ผู้มีพระคุณ และปฏิบัติตนให้อยู่ในศีลในธรรมนั่นเอง...

 

 

 

ความเชื่อเรื่องผี ผีไทย
แบ่งปัน:
Line borderless Line borderless

ประวัติศาสตรผี ปีศาจ และอมนุษย์ทั่วโลก

  • เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับผี การป้องกันและขับไล่สิ่งชั่วร้าย (5)
  • สัตว์ประหลาดในตำนาน นิทานพื้นบ้านและภูตจากทั่วโลก (411)
  • ตำนานเมืองสยองขวัญทั่วโลก (112)
  • ผีในทวีปออสเตรเลีย (8)
  • เรื่องราวแปลกประหลาดและน่าสนใจทั่วโลก (70)
  • พ่อมดและแม่มด เวทมนตร์ อัญมณีและของขลัง (78)
  • เกมผี เกมสยองขวัญ (56)
  • ผีในประเทศญี่ปุ่น (496)
  • หนังสยองขวัญ การ์ตูนผี และเพลงต้องสาป (807)
  • ฆาตกรและปีศาจในคราบมนุษย์ (44)
  • เทพ ยมฑูต และเทวตำนาน (73)
  • ผีในทวีปแอฟริกา (30)
  • ผีในทวีปเอเชีย (222)
  • อมนุษย์ ปีศาจและเดรัจฉาน (446)
  • สถานที่สิงสู่ของผีเฮี้ยนทั่วโลก (438)
  • ความเชื่อ พิธีกรรมและสิ่งของต้องสาป (316)
  • เรื่องผีสั้นๆ (492)
  • ผีในทวีปยุโรปและอเมริกา (310)
  • ผีในประเทศไทย (44)

ค้นหาจาก Tag ... คลิก!

[[รีวิวหนังสยองขวัญ แต่ไม่สปอย]] Mark of the Devil รอยปีศาจ
เรื่องผีสั้นๆ “ขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน”
“อุโมงค์กรีดร้อง” (Screaming Tunnel) ประเทศสหรัฐอเมริกา
นกเคน (Nøkken) นักบรรเลงไวโอลินแห่งความตาย คาบสมุทรสแกนดิเนเวีย
มนุษย์หมาป่าเฮบริดีส (Hebrides Werewolf) ประเทศสกอตแลนด์
อาคา แมนนาห์ (Aka Manah) ปีศาจแห่งเจตนาชั่วร้าย ตำนานโซโรอัสเตอร์
Copyrights © 2025 All Rights Reserved by amorerana.com.
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา