10 ผีพื้นบ้าน ไม่เด่น ไม่ดัง จนแทบหายไปจากความเชื่อไทย
ประเทศไทย... เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีเรื่องราว เรื่องเล่าเกี่ยวกับเรื่องผีจำนวนมากมาย โดยเฉพาะในสมัยก่อนที่ความเจริญทั้งด้านการเดินทางและการสื่อสารยังไม่เจริญก้าวหน้าอย่างเช่นในปัจจุบัน ยามเมื่อแสงตะวันลับขอบฟ้า หมู่บ้านทุกแห่งหนก็จะถูกความมืดกลืนกิน พร้อมกับความเงียบสงัดชนิดที่ได้ยินเสียงลมหายใจของตัวเองยามเมื่ออยู่เพียงลำพัง ในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีพื้นบ้านมากมายเกิดขึ้นมาสร้างความหลอนให้คนยิ่งไม่กล้าออกนอกบ้านในตอนกลางคืน แต่เรื่องราวของผีสางพื้นบ้างบางเรื่อง บางบทก็มีการบันทึกเรื่องราว และคนที่รู้จักน้อยลงทุกที ดังนั้น บทความในวันนี้จึงอยากที่จะทำการรวบเรื่องราวของผีพื้นบ้านไทย ที่ไม่ได้เป็นผีกระแสหลักที่ได้ปรากฏอยู่ในจอภาพยนตร์บ่อยๆ จนใกล้ที่จะหายไปจากการรู้จักคนรุ่นใหม่มาให้รู้จัก เพราะไม่แน่ว่าบางที ผีพื้นบ้านเหล่านี้อาจกำลังมองดูคุณอยู่จากข้างหลังในมุมมืด ที่แสงสว่างจากหลอดไฟมากมายของเมืองกรุงสาดส่องไปไม่ถึง ณ เวลานี้ เพียงแค่คุณยังไม่รู้ตัวเท่านั้น
1.ผีพื้นบ้านไทย : แม่ซื้อ
ผีแม่ซื้อ เป็นเรื่องราวความเชื่อเกี่ยวกับผีสางที่ชื่นชอบการติดตามเด็กเกิดใหม่ โดยเชื่อกันว่าผีแม่ซื้อเป็นผีที่ดี เป็นมิตรกับเด็กๆ และจะปรากฏตัวมาเพื่อทำการหยอกล้อกับเด็กเกิดใหม่ให้หัวเราะ ยิ้มแย้มอารมณ์ดี ยามเมื่ออยู่เพียงลำพัง แต่ในขณะเดียวกันหลายคนก็เชื่อว่าบางครั้งผีแม่ซื้อก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กทารกเกิดร้องไห้งอแง หรือเจ็บป่วยได้เช่นกัน ในขณะที่ในบางบันทึกเชื่อว่าแม่ซื้อไม่ใช่ผีสาง แต่เป็นเทวดาที่ทำหน้าที่คอยดูแลรักษาคุ้มครองเด็กทารก ไม่ให้เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย โดยส่วนใหญ่แล้วเทวดาเหล่านี้จะเป็นผู้หญิง โดยมีอยู่ทั้งหมด 7 ตน แยกตามวันเกิดของเด็กทารก โดยมีรูปร่างกายแตกต่างกันไป ดังต่อไปนี้
o วันอาทิตย์แม่ซื้อมี ชื่อว่า “วิจิตรมาวรรณ” มีหัวเป็นสิงห์ มีผิวกายสีแดง
o วันจันทร์แม่ซื้อมี ชื่อว่า “วรรณนงคราญ” มีหัวเป็นม้า มีผิวสีขาวนวล
o วันอังคารแม่ซื้อมี ชื่อว่า “ยักษบริสุทธิ์" มีหัวเป็นมหิงสา (ควาย) ผิวกายสีชมพู
o วันพุธแม่ซื้อมีชื่อว่า ”สามลทัศ” มีหัวเป็นช้าง ผิวกายสีเขียว
o วันพฤหัสบดีแม่ซื้อมี ชื่อว่า “กาโลทุกข์” มีหัวเป็นกวาง มีผิวกายสีเหลืองอ่อน
o วันศุกร์แม่ซื้อมีชื่อว่า “ยักษ์นงเยาว์” มีหัวเป็นโค ผิวกายสีฟ้าอ่อน
o วันเสาร์แม่ซื้อมีชื่อว่า “เอกาไลย์” มีหัวเป็นเสือ ผิวกายสีดำ ทุกตนทรงอาภรณ์ (เสื้อผ้า) สีทอง
ในภาคกลางและภาคอีสานจะมีการจัดพิธีแม่ซื้อ โดยนำเด็กทารกมาใส่ในกระด้งร่อนเพื่อให้แม่ซื้อทราบบว่ามีคนมารับลูกไปเลี้ยงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นการเสริมสร้างสิริมงคลให้กับเด็ก และเป็นการปกป้องเด็กจากการถูกแม่ซื้อแกล้งเล่นจนทำให้เกิดอาการขวัญเสียอีกด้วย แต่สำหรับชาวภาคใต้ แม่ซื้อไม่มีรูปลักษณ์ที่ตายตัว เป็นเทวดาหรือภูตผีก็ไม่เชิง แต่จะทำหน้าที่คล้ายกันคือดูแลเด็กทารกตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุ 12 ปี โดยมีทั้งหมด 4 ตน มีชื่อว่า “ผุด ผัด พัด และผล”
“แม่ซื้อ” เทวดาผู้คอยดูแล คุ้มครองเด็กทารก ตำนาน ความเชื่อและความจริง...
2.ผีพื้นบ้านไทย : ผีโป๊กกะโล่ง
ผีโป๊กกะโล่ง เป็นผีพื้นบ้านที่ปรากฏตัวในทางภาคทางเหนือของประเทศไทย เชื่อกันว่าผีประเภทนี้มีหน้าที่ในการปกป้องรักษาป่า โดยมีรูปร่างลักษณะคล้ายคลึงกับคนป่าที่ไว้ผมยาวรากไทรรุงรัง เล็บมือเล็บเท้ายาว มีของชอบคือกุ้ง หอย ปู ปลา และสัตว์ขนาดเล็ก นอกจากนี้ผีโป๊กกะโล่งยังสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วราวลมพัด ทำให้ไม่มีใครสามารถมองเห็นหรือตามจับพวกมันได้ เนื่องจากความเร็วที่เกินกว่าที่มนุษย์จะสามารถตามทันนั่นเอง
3.ผีพื้นบ้านไทย : แม่เตาไฟ
แม่เตาไฟ เป็นวิญญาณฝ่ายดีที่สิงสถิตอยู่ในเตาไฟในห้องครัวของทุกบาน คอยทำหน้าที่ดูแลการทำอาหารและกิจกรรมเกี่ยวกับไฟต่างๆในห้องครัว ด้วยการป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ขึ้น นอกจากนี้สมัยก่อนยังเชื่ออีกว่าหากให้เด็กเล็กทำการกราบไหว้แม่เตาไฟก่อนเข้านอนจะช่วยป้องกันไม่ให้เด็กเหล่านั้นเผลอฉี่รดที่นอนในยามหลับอีกด้วย
4.ผีพื้นบ้านไทย : โต๊ะเคร็ง
โต๊ะเคร็ง เป็นผีประเภทหนึ่งที่มักสิงสถิตอยู่ในเครื่องดนตรีประเภทหนึ่งทางภาคใต้ หากผู้ที่เรียน หรือทำมาหากินเกี่ยวกับเรื่องนาฎศิลป์ทำการเซ่นไหว้บวงสรวงบูชาอย่างถูกต้องเหมาะสม ผีโต๊ะเคร็งก็จะเมตตา พร้อมกับนำพาให้มีความก้าวหน้าในด้านของอาชีพ หน้าที่การงาน แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าหากทำการเซ่นไหว้ผีโต๊ะเคร็งไม่เหมาะสม ผิดกฎ ก็จะถูกนำพาความพินาศฉิบหายมาให้เช่นกัน ทำให้การบูชาเซ่นไหว้ผีโต๊ะเคร็ง ต้องทำด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก
5.ผีพื้นบ้านไทย : แม่ธรณีประตู
คนไทยสมัยก่อนเชื่อว่าหากเดินเหยียบแม่ธรณีประตูจะทำให้เกิดเรื่องที่เลวร้ายขึ้น เพราะเชื่อกันว่าในบริเวณธรณีประตู เป็นที่สิงสถิตของแม่ธรณีประตู ที่ทำหน้าที่คอยเฝ้าดูแลพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งความเชื่อดังกล่าวยังส่งผลไปถึงการบวชนาค ที่นิยมทำการแบกนาคเข้าสู่อุโบสถเพื่อป้องกันไม่ให้เผลอเหยียบธรณีประตู ซึ่งอาจส่งผลร้ายตามมาถึงขนาดที่บางรายไม่สามารถบวชได้สำเร็จเลยทีเดียว
6.ผีพื้นบ้านไทย : จะกละ แมวผี
จะกละ เป็นผีที่มีลักษณะเหมือนกับแมวป่า หรือแมวบ้าน ดวงตาสีแดงก่ำ ขนสีดำสนิท กระด้างไม่มีเงาเหมือนกับแมวทั่วไป จะกละเป็นผีรับใช้ของเหล่าจอมขมังเวทคนมีอาคมในสมัยก่อน เพื่อใช้ให้ไปทำร้านศัตรู ความน่าสะพรึงกลัวของแมวผีจะกละคือ หากใครมอง หรือสัมผัสพวกมันก็เป็นอันชะตาขาดถึงขาดตายในทันที
จะกละ กลุ่มก้อนไไสยเวทมนต์ดำที่อยู่ในร่างแมวสัตว์เลี้ยงใกล้ชิดของมนุษย์ ที่พร้อมสั่งตายทุกคนที่ได้สัมผัส...
7.ผีพื้นบ้านไทย : ผีฟ้า
ผีฟ้า ในทางภาคเหนือและทางภาคอีสาน ถูกมองว่าเป็นผีดี ที่ได้รับการบูชาเหมือนกับเทวดาอารักษ์ ซึ่งผีฟ้าจะปรากฏตัวผ่านทางคนทรงที่สืบทอดกันทางสายเลือด เฉพาะเพศหญิงเท่านั้น ในสมัยก่อนหากมีคนในหมู่บ้านเกิดการเจ็บไข้ เจ็บป่วย ชาวบ้านก็จะพากันไปขอความช่วยเหลือจากร่างทรงของผีฟ้า เพื่อให้ช่วยทำหน้าที่เป็นตัวกลางเข้าทรงให้ผีฟ้าเสี่ยงทายและรักษาให้หายขาด หรือที่เรียกกันว่า “ผีรักษา” อันเป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนไทย
ผีแถน พญาแถน หรือผีฟ้า ที่มีอิทธพลอย่างมากทั้งขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน น่าสนใจเพียงใด คลิก! อ่านกันเลย..
8.ผีพื้นบ้านไทย : ยายกะลา ตากะลี
ตามความเชื่อของคนไทยโบราณก่อนที่พุทธศาสนาจะเข้ามาเผยแพร่ ยายกะลา ตากะลี เป็นผีเจ้าที่เจ้าทาง หรือ “ผีผู้สร้างโลก” ที่ได้ทำการสร้างมนุษย์ขึ้นมาโดยการปั้นมนุษย์คู่แรกขึ้นมาในโลก หลังจากนั้นเมื่อความเชื่อด้านศาสนาเข้ามา ทำให้ยายกะลา ตากะลี กลายมาเป็นผีที่ทำหน้าที่ควบคุมผีทั้งปวงในป่าช้า ทำให้ยายกะลา ตากะลีเป็นที่เคารพยำเกรงอย่างมากของผู้ที่เล่นไสยศาสตร์ และต้องทำการบวงสรวงยายกะลา ตากะลีทุกครั้งก่อนที่เหล่าหมอผีจะเข้าไปทำกิจธุระเกี่ยวกับมนต์ดำในป่าช้า เพราะหากยายกะลา ตากะลีไม่ได้ยินยอม หรือรับของเซ่นไหว้ อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้น ซึ่งในสมัยก่อน หากต้องการเผาศพผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะทำการโยนเหรียญเงินเข้าไปในกองไฟ พร้อมกับกล่าวว่า “ยายกะลา ตากะลี ขอซื้อที่สามวาสองศอก” อันมีความหมายว่าขอใช้เงินดังกล่าว แทนของเซ่นไหว้ในการซื้อที่ให้กับผู้ตายในป่าช้านั่นเอง เนื่องจากสมัยนั้นจะทำการฝังศพเอาไว้ก่อนจึงค่อยขุดมาเผาในภายหลัง
9.ผีไทยพื้นบ้าน : แม่บันได
คนไทยในสมัยก่อนเชื่อว่าทุกสวนของบ้านมีความสำคัญ และมีวิญญาณ หรือผี สิงสถิตอยู่ ซึ่งบันไดบ้านที่แต่ก่อนนิยมทำจากไม้ก็มีผีผู้หญิงที่เรียกว่า “แม่บันได” คอยปกป้องอยู่เช่นกัน ทำให้สมัยก่อนคนภาคกลางเชื่อกันว่า “ห้ามเหยียบแม่บันไดยามเดินเข้าสู่เรือนชาน” เพราะจะทำให้เกิดเคราะห์ร้ายขึ้นกับตัวเอง อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการบันทึกเอาไว้ว่าแม่บันได สิงสถิตอยู่บริเวณใดของบันได ทำให้การพยายามหลีกเลี่ยงแม่บันได อาจเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยากอย่างมากเลยทีเดียว
10.ผีพื้นบ้านไทย : ดาดา
ผีดาดา เป็นหนึ่งในกลุ่มผีที่มีความแปลกประหลาด และไม่มีตำนานเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของพวกมันเหมือนกับผีทั่วไป ลักษณะของผีดาดาจะมีแต่กระดูกสีขาวโพลน ไม่สวมใส่เสื้อผ้า แถมยังมีนิสัยค่อนข้างขี้อาย ร้องว่า “ดาดา” ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากการที่ไม่มีเนื้อหนังกล่องเสียงหลงเหลือที่จะเปล่งคำพูดออกมานั่นเอง ชอบเดินเร่ร่อนไม่อยู่เป็นหลักแหล่งไปตามทุ่งนาที่อยู่ริมป่า หาเก็บพืชผักสวนครัวกินเป็นอาหาร ชื่นชอบถั่วยากพิเศษ จากการบอกเล่าปากต่อปากพบว่า เคยมีผู้เห็นผีดาดาปรากฏตัวที่จังหวัดอุดรธานี และเชียงราย