นางตะเคียน อาถรรพ์แห่งผืนป่า
นางตะคียน... เป็นหนึ่งในความเชื่อเกี่ยวกับอาถรรพ์ของผืนป่าที่อยู่คู่กับเมืองเมืองไทยมาอย่างยาวนานว่าในต้นตะเคียนบางต้นเป็นที่พำนักของภูตผี เมื่อทำการตัดโค่นต้นตะเคียนไปแปรรูปทำยานพาหนะ หรือสร้างบ้านเรือนอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม ก็จะทำให้วิญญาณของนางตะเคียนที่ยังคงสถิตอยู่แสดงอาถรรพ์ สาปแช่ง และในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ ทำอันตรายถึงแก่ชีวิตกันเลยทีเดียว ซึ่งบทความในวันนี้จะขอพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับนางตะเคียนกันแบบเจาะลึกว่ามีความเป็นมาเช่นไร!? และทำอย่างไรจึงจะสามารถปกป้องตัวเองได้หากนางตะเคียนมาเยือน...
ไม้ตะเคียน กับคุณสมบัติชั้นยอดที่ทำให้ถูกนำมาใช้กันอย่างยาวนาน
ไม้ตะเคียน เป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงมากถึง 20-30 เมตร มีคุณสมบัติชั้นยอด เพราะเนื้อไม้มีความแข็งแรง ทนทาน แกร่งและยังไม่ถูกรบกวนจากศัตรูตามตามธรรมชาติอย่างมอด หรือปลวก ทำให้เหมาะเป็นอย่างมากในการนำมาทำยานพาหนะอย่างเช่นเรือ รวมไปถึงบ้านเรือน อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ไม้ตะเคียนได้รับการระบุเอาไว้ว่าเป็นไม้อนุรักษ์ ถ้าหากผู้ใดมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้ทำการขออนุญาตจะถือว่าความผิดตามกฎหมาย จากกฎหมายข้อนี้เอง ได้ช่วยปกป้องต้นตะเคียนอายุหลายร้อยปีที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติจากการบุกรุกทำลายได้พอสมควร
การถือกำเนิดของนางตะเคียน
การถือกำเนิดเกิดขึ้นมาของนางตะเคียน ยังคงเป็นหนึ่งในปริศนาที่ยังไม่มีใครสามารถไขกระจ่างได้ อย่างไรก็ตาม คนในสมัยก่อนเชื่อว่านางตะเคียนกำเนิดขึ้นจากสาเหตุ ดังต่อไปนี้
1.นางตะเคียน รุกขเทวดาที่สิงสถิตอยู่ในต้นตะเคียน
ในทางพุทธศาสนาเชื่อว่านางตะเคียนเป็น รุกขเทวดาระดับล่างที่ทำการบำเพ็ญภาวนาแต่บุญไม่สูงเพียงพอที่จะได้ขึ้นสวรรค์ ทำให้ใช้ต้นตะเคียนที่มีอายุกว่า 100 ปี (เชื่อว่าหากต้นไม้มีอายุเกิน 100 ปีขึ้นไป จะมีความศักดิ์สิทธิ์) ต่างวิมาน และสามารถคงอยู่ในโลกมนุษย์ได้โดยไม่ต้องขอส่วนบุญเหมือนกับภูตผี เนื่องจากเป็นเทวดาชั้นล่าง
2.นางตะเคียน วิญญาณของผู้หญิงที่รอการจุติในภพใหม่
คนโบราณเชื่อว่านางตะเคียน เป็นดวงวิญญาณของผู้หญิงที่สิงสถิตอยู่ภายในต้นตะเคียนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงอายุขัย เพื่อรอจุติในภพภูมิใหม่
ลักษณะของนางตะเคียน
นางตะเคียน มีรูปร่างหน้าตาที่สวยงาม ผมยาว ห่มสไบ และสวมผ้าถุง ในบางตำนานเชื่อว่านางตะเคียนมักแต่งตัวคล้ายกับสาวบ้านป่าในสมัยก่อน หรือในบางครั้งนางตะเคียนอาจปรากฏตัวขึ้นโดยมีรูปร่างและการแต่งกายเหมือนกันหญิงสาวชาวบ้านทั่วไปอีกด้วย
วิธีการสังเกตว่าป่าที่มีนางตะเคียนสิงสถิตอยู่!?
เชื่อกันว่าผืนป่าที่มีนางตะเคียนสิงสถิตอยู่จะมีความสะอาดราวกับมีคนมาคอยเก็บกวาดทำความสะอาดอยู่เสมอ ดังนั้น ถ้าหากพบเห็นต้นตะเคียนขนาดใหญ่ที่พื้นที่โดยรอบสะอาดผิดปกติ ขอแนะนำว่าอย่าทำเรื่องที่ไม่เข้าท่าอย่างเช่นการท้าทายอำนาจที่มองไม่เห็นของนางตะเคียนจะเป็นเรื่องที่ปลอดภัยกับตัวเองมากกว่า
วิธีการสังเกตว่าบ้านมีนางตะเคียนสิงสถิตอยู่หรือเปล่า!?
วิธีการสังเกตว่าบ้านมีนางตะเคียนสิงสถิตอยู่หรือเปล่า ให้สังเกตที่เสาบ้านที่ทำจากต้นตะเคียนว่ามีการตกน้ำมันที่มีสีคล้ายกับเลือดมนุษย์หรือเปล่า และในบางครั้งอาจจะได้ยินเสียงลั่นคล้ายกับเสียงร้องครวญครางของหญิงสาว ทำให้สมัยก่อนมีการเรียกเสาตะเคียนตกน้ำมันว่า “เสาร้องไห้” ด้วยเช่นกัน
นางตะเคียนอันตรายกับมนุษย์หรือเปล่า!?
นางตะเคียนจะเป็นอันตรายกับมนุษย์เมื่อถูกรุกรานผืนป่าที่เป็นสถานที่อาศัย คนที่ปากกล้าท้าทาย หรือคนที่มาทำการบนบานสัญญาอะไรไว้แล้วไม่ยอมทำตาม และจะยิ่งดุร้ายมากขึ้นไปอีกถ้าหากใครมายุ่งกับต้นตะเคียนที่สิงสถิตอยู่ เหมือนกับเรื่องราวสยองขวัญที่เกิดขึ้นกับชายหนุ่มคนหนึ่ง ที่อยากจะขอเล่าถึงดังต่อไปนี้
เส้นทางระหว่างหาดใหญ่ – รัตภูมิ บริเวณสะพานข้ามคลองมีต้นตะเคียนขนาดใหญ่ยืนต้นอยู่ข้างถนน เป็นที่ตั้งของศาลนางตะเคียนที่ได้รับการเคารพจากคนในพื้นที่ เมื่อใครเดินทางผ่านศาลแห่งนี้ก็มักที่จะทำการบีบแตรแสดงความเคารพทุกครั้ง ชายหนุ่มคนหนึ่งขับรถจักรยานยนตร์ผ่านเส้นทางดังกล่าวพร้อมกับเพื่อน แล้วคึกคะนองบอกกับเพื่อนว่าอยากจะได้เห็นนางตะเคียนตัวเป็นๆสักครั้งเป็นบุญตา เพราะร่ำลือกันว่าหน้าตาสวยงาม ในขณะที่กำลังขับผ่านศาลนางตะเคียน ชายคนนั้นเห็นเหมือนใครบางคนยืนอยู่ข้างศาลผ่านทางหางตาครู่หนึ่งก่อนที่จะหายไป ในคืนนั้นเอง เขาก็ฝันเห็นหญิงสาวที่งดงามไร้ที่ติ แต่ในคืนถัดมาเขากลับเห็นหญิงชรายืนตัวตรง แววตาเอาเรื่องจ้องเขม็งมาทำให้ตกใจตื่น แล้วต้องรีบไปกราบขออภัยเจ้าแม่ตะเคียนทองจากความคึกคะนองของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งนางตะเคียนอาจจะให้โชคลาภกับมนุษย์ที่มาสักการบูชา ทำให้ถูกกราบไหว้ยกระดับให้กลายเป็น “เจ้าแม่ตะเคียน” แต่คนที่ได้รับโชคลาภจากเจ้าแม่ตะเคียนถ้าหากสัญญาอะไรไว้แล้ว ต้องทำตามคำบนบานเหล่านั้นด้วย ไม่เช่นนั้นหากเจ้าแม่ตะเคียนไปทวงถามสัญญากลางดึก เรื่องอาจจบไม่ค่อยสวยสักเท่าใดนัก...
ความเชื่อเรื่องนางตะเคียนกับพิธีกรรมของคนไทย
ในวัฒนธรรมไทย มีหลายพิธีกรรม และงานประเพณีที่เกี่ยวข้องกับนางตะเคียน โดยมีพิธีที่มีความน่าสนใจนั้น มีดังต่อไปนี้
1.การบวงสรวงก่อนนำไม้ตะเคียนมาสร้างเป็นยานพานหะ หรือที่พักอาศัย
ในสมัยก่อนนิยมนำต้นตะเคียนทั้งต้นมาขูดเพื่อสร้างเป็นเรือสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือนำมาสร้างบ้าน แต่ก่อนที่จะทำการตัดต้นตะเคียนจำเป็นที่จะต้องทำการพิธีบวงสรวงขออนุญาตจากนางตะเคียนเสียก่อน เพราะเมื่อไม้ตะเคียนถูกแปรรูปกลายมาเป็นเรือ และบ้านแล้ว นางตะเคียนที่สิงสถิตอยู่ก็จะเปลี่ยนสถานะตามไปด้วย เช่น หากนำมาสร้างเป็นเรือ นางตะเคียนก็จะกลายเป็น “แม่ย่านาง” ที่ทำหน้าที่ดูแลเรือลำนั้น หรือถูกนำไปสร้างเป็นบ้าน นางตะเคียนก็จะกลายมาเป็น “เจ้าที่เจ้าทาง” หรือ “ผีบ้านผีเรือน” ที่คอยปกป้องดูแลบ้านหลังนั้นต่อไป แต่ในขณะเดียวกันถ้าหากนำไม้ตะเคียนมาใช้โดยไม่ได้ทำพิธีอย่างเหมาะสม ก็จะทำให้เกิดความฉิบหายให้กับคนเหล่านั้นเช่นกัน
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการนำไม้ตะเคียนไปใช้โดยไม่ได้ทำพิธีกรรมขอมาอย่างเหมาะสม โดยเกิดขึ้นกับครอบครัวหนึ่งในจังหวัดน่าน ที่ได้ทำการตัดต้นตะเคียนที่ชาวบ้านเคารพบูชานำไปใช้สร้างบ้าน หลังจากนั้นผู้อยู่อาศัยก็ต้องพบกับอาถรรพ์มากมายที่หาสาเหตุไม่ได้ จนกระทั่งมีคนตายโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อมีคนย้ายมาอยู่ใหม่ก็ไม่มีใครทนอยู่ได้นาน ทำให้เชื่อกันว่าเป็นฝีมือของนางตะเคียงที่จัดการกับผู้ที่ละเมิดการทำพิธีอย่างไม่เหมาะสม
ความเชื่อดังกล่าว ยังคงมีให้เห็นแม้ในปัจจุบัน เช่น งานประเพณีสรงน้ำและอาบน้ำแม่ย่าตะเคียน ที่เป็นเสาไม้ตะเคียนขนาดใหญ่ที่เป็นตำนานของอำเภอเสาไห้ ณ วัดสูง จังหวัดสระบุรี ในทุกวันที่ 23 เมษายน ของทุกปี ตำนานเล่าว่าขณะที่มีการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานี ได้มีการประกาศเกณฑ์เสาไม้จากทุกหัวเมืองมาคัดเลือกเป็นเสาเอก สระบุรีได้จัดส่งเสาตะเคียนที่มีความงดงามตนนี้ล่องไปตามแม่น้ำป่าสัก แต่ยังไปไม่ถึงกรุงเทพ ก็ได้มีการคัดเลือกเสาเอกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ความโศกเศร้าของเสาตะเคียนที่เดินทางไปไม่ถึงทันเวลา ทำให้เสาลอยทวนน้ำกลับมาด้วยตัวเองก่อนที่จะมาจมลง ณ ตำบลแห่งนี้ เป็นเวลายาวนานกว่า 100 ปี
ในปี พ.ศ.2501 หลังจากที่มีชาวบ้านฝันเห็นหญิงสาวร้องไห้ในแม่น้ำ ได้มีการประกอบพิธีเชิญเสาตะเคียนขึ้นจากน้ำ โดยใช้เชือกผู้รอบเสาตะเคียนและใช้คนจำนวนมากช่วยกันลากเสาขึ้นจากน้ำแต่กลับไม่สำเร็จ จึงได้มีการทำพิธีสร้างศาลเพียงตา เครื่องเซ่นหัวหมูซ้ายขวา บายศรี 3 ชั้น แล้วนำสายสิญจน์ผูกที่เสาให้ผู้เข้าร่วมพิธีจับปลายสาย หลังจากนั้นพระสงฆ์อีก 9 รูป ได้สวดเจริญชัยมงคลคาถา ทำให้ประสบความสำเร็จในการนำเสาตะเคียนขึ้นจากน้ำ ก่อนอัญเชิญไปไว้ ณ วัดสูงมาจนถึงปัจจุบัน
2.การแก้บนบานกับเจ้าแม่ตะเคียน
สำหรับคนที่มาบนบานเพื่อขอโชคลาภกับเจ้าแม่ตะเคียน ส่วนใหญ่มักที่จะทำการแก้บนบานด้วยการมอบชุดไทย สไบเฉียง น้ำอบ น้ำหอม เครื่องแป้ง และเครื่องสำอาง เป็นต้น ให้กับเจ้าแม่ตะเคียน เพราะเชื่อกันว่านางตะเคียนเป็นผู้หญิงสวย ย่อมต้องมีความรักสวยรักงามเป็นเรื่องธรรมดานั่นเอง
ต้นตะเคียน กับความเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลัง
นอกจากเรื่องราวของอาถรรพ์ความเฮี้ยนของนางตะเคียนแล้ว คนสมัยก่อนยังเชื่อว่าไม้ตะเคียน สามารถนำมาสร้างเครื่องราง ของขลัง ที่มีอิทธิฤทธิ์ในการช่วยปกป้องผู้เป็นเจ้าของจากภัยอันตรายทั้งปวงได้อีกด้วย
เสียงกรีดร้องของเสาตะเคียนตกน้ำมัน กับบทพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์
สิ่งที่น่ากลัวมากที่สุดของนางตะเคียนคือ เสียงลั่นประหลาด และน้ำมันสีเลือดจากเสาตะเคียน เพราะเป็นเรื่องลึกลับที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อย่างไรก็ตามหากพูดกันในเชิงวิทยาศาสตร์ ไม้ตะเคียน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างหนึ่งที่มีความน่าสนใจมาก คือ เมื่อถูกนำมาสร้างเป็นเสาเรือน เนื้อไม้จะมีการขยายตัว ทำให้เกิดเสียงประหลาดดังลั่นขึ้น นอกจากนี้ยังมักเกิดการตกน้ำมันเป็นสีแดงคล้ายกับเลือดของมนุษย์ กับเสาเนื้อไม้ใหม่ที่ยังไม่ได้รับการอบแห้งตามธรรมชาติอย่างเหมาะสม ทำให้คนในสมัยก่อนเกิดความเชื่อว่า เสียงลั่นของเนื้อไม้เป็นเสียงร้องครวญคราง ในขณะที่น้ำยางที่เกิดขึ้น เป็นเสียงร้องไห้ของนางตะเคียนที่สิงสถิตอยู่นั่นเอง...
บทสรุปส่งท้าย : นางตะเคียนกับวัฒนธรรมไทย
โดยสรุปแล้ว... นางตะเคียนยังคงเป็นภูตผีตนหนึ่งที่ยังคงมีความสำคัญอย่างมากต่อชาวไทย เพราะยังคงมีศาลเจ้าแม่ตะเคียนทองมากมายให้ได้เห็นในทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงก่อนวันหวยออกที่จะมีบรรดาเหล่าผู้ศรัทธาจำนวนมากเดินทางไปขอเลขเด็ดจากเจ้าแม่ตะเคียนกันอย่างไม่ขาดสาย ในขณะเดียวกัน นางตะเคียนก็ยังเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมความเชื่อของคนในบางพื้นที่อย่างเช่นในตำบลเสาไห้ ที่มีการสักการะเป็นประจำทุกปี อันเป็นกิจกรรมที่ช่วยสานความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้มีความแน่นแฟ้นมากขึ้น...