แมวโพง แมวเป้า เด็กร้องเป็นต้องเงียบกริบ
ในสมัยก่อนถ้าหากเด็กทำตัวดื้อ ซน ร้องไห้งอแงไม่ยอมหยุด หนึ่งในสิ่งที่ผู้ใหญ่มักยกมาปรามให้เด็กเงียบกริบได้สนิทราวกับรูดซิปปาก คือคำขู่ว่า “ถ้าไม่หยุดร้องจะถูกแมวเป้า หรือแมวโพงมากินตับ” เพียงแค่ชื่อของแมวโพงกับแม้วเป้า ก็สามารถใช้ขู่เด็กได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าจะไม่เคยได้เห็นตัวของพวกมันมาก่อน ในวันนี้ผู้เขียนเลยอยากพาคุณผู้อ่านทุกคน ไปทำความรู้จักกับเหล่าแมวโพง แมวเป้า ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งใน "แมวผี"”ของประเทศไทย ส่วนแมวผีประเภทอื่นๆ อย่างเช่น แมวดำและแมวผีจะกละ จะขอกล่าวถึงในบทความชิ้นถัดไป
แมวโพง แมวป่า หรือแมวผี!?
แมวโพง เป็นหนึ่งในแมวผีที่ปรากฏตัวขึ้นในหลายวัฒนธรรมทั่วประเทศไทย ภาคกลางเรียกว่า “แมวพง” คือ ชื่อเรียกของแมวตัวผู้ตัวโตขนาดใหญ่มากกว่าแมวปกติ (บางพื้นที่เรียกว่า “แมวป่า”) เป็นแมวเถื่อนที่ไม่มีเจ้าของ มีนิสัยสันโดษชอบอยู่ตามลำพังตามสถานที่เงียบสงบ เช่น ในป่า หรือป่าช้า มีนิสัยชอบออกล่าหาเหยื่อในเวลากลางคืน ในบางครั้งพบว่าแมวโพงกินลูกแมวที่เกิดใหม่เป็นอาหาร แมวโพงมีเสียงร้องที่น่ากลัว ดุดัน บางครั้งร้องคล้ายกับเสียงเด็กเล็ก ชวนวังเวง ทำให้หลายคนเกิดความหวาดกลัว และชอบมีนิสัยนักเลงกัดกับแมวตัวอื่น ทำให้บ่อยครั้งที่แมวโพงจะปรากฏตัวพร้อมกับรอยแผลราวกับทหารที่พึ่งกลับมาจากสนามรบ บางครั้งก็ดุร้ายถึงขนาดทำร้ายมนุษย์ โดยเฉพาะเด็กอ่อน ด้วยอุปนิสัยที่น่ากลัว ทำให้แมวโพงมักถูกนำมาใช้ในการหลอกเด็กให้เชื่อฟัง
หลายคนเชื่อว่าแมวโพง ที่จริงแล้วมันก็คือแมวธรรมดาทั่วไป เพียงแต่มีขนาดใหญ่กว่า และมีนิสัยที่ไม่ค่อยดีนักในการแอบย่องไปขโมยหรือฆ่า ลูกแมวที่เกิดขึ้นบ่อยๆ อย่างเช่น เรื่องเล่าของชายคนหนึ่งเกี่ยวกับแมวโพงว่า แมวที่บ้านของเขาพึ่งคลอดลูกใหม่ 3 ตัว วันหนึ่งไม่มีคนอยู่บ้าน พอกลับไปถึงปรากฏว่ามีแมวแปลกหนาตัวหนึ่งอยู่แถวบ้าน พอเห็นหน้าปุ๊ป! แมวตัวนั้นก็วิ่งหนีหายไปในทันที ทิ้งเอาไว้เพียงศพของลูกแมวที่น่าสยดสยองขาขาด คอขาด คล้ายกับถูกกัดกิน ส่วนแมวตัวแม่เหมือนกับทำอะไรไม่ได้และกลัวแมวตัวนั้น ทำได้เพียงแค่ร้องหง่าวๆ อยู่ใกล้ศพของลูกที่ไร้วิญญาณเท่านั้น
ในเพลงกล่อมลูกของชาวอีสานในสมัยก่อนมีบางท่อนที่กล่าวถึงแมวโพงเอาไว้ เช่น ในเพลง “แม่หมายกล่อมลูก” โดยนางฉวีวรรณ ดำเนิน (พันธุ) ก็มีการกล่าวถึงแมวโพงในบางท่อน ดังนี้ “นอนสาหล่าแมวโพงมาแม่สิไล่ เป็ดไก่ฮ้องไผสิป้อนเหงี่ยเกีย ไม่ไปไฮ่กะขี่ควยเขาลา แม่ไปนากะขี่ควนเข้าตู้ ขาหนึ่งคู้ขาหนึ่งเหยียดซอย ลมวอยวอยกะขี่ควยคอนกล้า”
เพลงกล่อมเด็กของชาวเหนือ อีสาน และชาวเขา มีท่องหนึ่งที่ได้กล่าวถึงแมวโพงว่า “นอนเสียเยอ ลูกน้อยพ่อเอย เจ้าบ่นอน แมวโพงสิขบแก้ม เจ้าบ่แอม ไก่น้อยสิตอด หน่อยตา เจ้าบ่นอน หมากสีดามันสิโหล่นจากขวั่น”
แมวโพง ยังถูกนำไปตั้งเป็นชื่อสถานที่ในประเทศไทยหลายแห่ง อาทิเช่น ถ้ำแมวโพง จ.เชียงใหม่ ห้วยแมวโพง จ.สกลนคร เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันว่าความเชื่อเกี่ยวกับแมวโพงนั้น มีปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วประเทศไทยเลยทีเดียว
แมวเป้า แมวผี ตามความเชื่อของชาวอีสาน
คำว่า “เป้า” มีความหมายถึง คน หรือสัตว์ที่ปกติกิน หรือของสุกเป็นอาหาร แต่มีเหตุบางประการที่ทำให้เปลี่ยนไปชอบกินของดิบๆ โดยเฉพาะเหยื่อที่มีชีวิตแบบที่จับได้แล้วกินกันสดๆ โดยไม่ผ่านกระบวนการปรุงอาหาร ถ้าหากเป็นคนจะเรียกว่า “ผีเป้า” ที่เกิดจากการใช้ว่านคุณไสย์ประเภทหนึ่งที่มีชื่อว่า “ว่านเป้า” หรือ “ว่านเลือด” ที่มีลักษณะเป็นสีแดง มีกลิ่นคาวเหมือนเลือด หลายคนที่ไม่สามารถรักษาข้อกำหนดในวิชาอาคมของตัวเองได้ หรือที่ชาวอีสานเรียกว่า “ผิดข้อคะลำ” มักถูกอาคมเข้าตัวกระทั่งกลายร่างเป็นผีเป้าเที่ยวออกหาของดิบ ของสดกิน โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านอย่างไก่ เป็ด หรือปลาที่มีคนไปดักเอาไว้ตามไร่นา เป็นต้น เชื่อว่าหลายครั้งที่ไก่ตายยกคอกอย่างสยดสยองที่จริงไม่ใช่ผีมือของผีปอบ หากแต่เป็นการกระทำของผีเป้า
แมวเป้า โดยทั่วไปสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ แมวป่า และแมวบ้าน ดังนี้
แมวเป้า ประเภทแมวป่า มีรูปร่างคล้ายกับแมวบ้าน แต่จะมีขนาดที่ใหญ่กว่า และขายาวกว่าเล็กน้อย หูตั้ง มีขนสีดำ ปลายหางเป็นพู่ ด้านล่างของโคนหูจะเป็นสีส้มแกมเหลือง ส่วนใต้ท้องมีสีอ่อนเกือบขาว ตามลำตัวของแมวเป้าจะไม่มีลาย แต่ขามีลาย แมวเป้าบางตัวจะมีลายที่หางเป็นปล้องดำ และหางค่อนข้างสั้น แมวเป้า ชอบจับสัตว์เล็กๆกินเป็นอาหาร เช่น หนู กระต่าย กิ้งกือ กบ เขียด และซากสัตว์ต่างๆ เป็นต้น แต่ชื่นชอบกระต่ายมากที่สุดทำให้หลายครั้งจึงถูกเรียกว่า “เสือกระต่าย” แมวเป้ามีเสียงร้องคล้ายกับแมวบ้าน ชอบอาศัยอยู่ในสถานที่ที่เป็นป่าโปร่ง ป่าละเมาะ โดยแอบอยู่ตามพุ่มไม้หนา โพรงดินหรือใกล้โคนไม้ ไม่ชอบปีนขึ้นต้นไม้ ซึ่งแมวเป้า เป็นสัตว์ป่าสงวนในปี พ.ศ.2535
แมวเป้า ประเภทแมวบ้าน ที่กลายสภาพมาเป็นเป้า เพราะเจ้าของไม่ค่อยใส่ใจให้อาหาร เมื่อเกิดความอดอยากมาเข้า แมวเหล่านั้นก็จะออกล่าเหยื่ออย่างหนู ตุ๊กแก กิ้งก่า กินเป็นอาหารเพื่อประทังชีวิต เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าจนเกิดติดใจรสชาติของสด พวกมันก็จะกลายมาเป็น “แมวเป้า” นั่นเอง...
สิ่งหนึ่งที่ทำให้แมวโพง แมวเป้า และแมวผี เหมือนกันคือ “แมวปีศาจ” ที่จะปรากฏตัวให้เห็นในคืนเดือนมืด เป็นแมวสีดำขนาดใหญ่ ดวงตาดุแข็งกร้าว น่าสะพรึงกลัว ผู้ใหญ่สมัยก่อนมักจะบอกว่าพวกมันมาเพื่อจับเด็กดื้อ เด็กซนไปกินเป็นอาหาร อย่างไรก็ตามพฤติกรรมการฆ่า หรือกินลูกแมว จนทำให้เกิดคำร่ำลือเกี่ยวกับแมวผีขึ้นมาโดยทั่วไปเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของแมว ที่หากลูกแมวตาย แม่แมวก็จะเข้าสู่ช่วงติดสัดเพื่อพร้อมสู้ช่วงผสมพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
แมวโพง แมวเป้า ในพิธีแห่นางแมวขอฝน
แมวโพง แมวเป้า ยังปรากฏตัวอยู่ในประเพณีที่คนไทยรู้จักกันดีอย่างการ “แห่นางแมวขอฝน” ที่มักจะจัดขึ้นเมื่อเกิดอาเพศอย่างเช่น ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ไม่ตกตามเวลา ทำให้มีการจัดพิธีแห่นางแมวขอฝนขึ้น ด้วยการนำแมวมา 1 ตัว ใส่ในกระทอ โดยมีคนหามตั้งคายขัน 5 หามประกอบพิธีป่าวสัดเค เทวา เชิญเทวดาลงมาบอกกล่าวขอน้ำฝน โดยบอกว่าจะขอฝนด้วยการแห่นางแมง แล้วสั่งให้พวกหามแห่เซิ้งไปตามถนนในหมู่บ้าน มีคนทั้งชายหญิง และเด็ก เดินถือดอกไม้ตามไปถึงเรือนหลังไหน คนในเรือนนั้นก็ต้องเอาน้ำสาดใส่ทั้งแมวและคน ทำให้ทั้งแมวและคนต่างต้องหนาวไปตามกัน การจัดประเพณีแห่งนางแมวขอฝนในบางพื้นที่ จะมีการผูกเอวคนหัวล้าน 2 คน ทำท่าทางฮึดฮัดจะชนกันตามกระบวนแห่ไปด้วย บางจุดก็จะหยุดขบวนเพื่อให้คนหัวล้านชนกันสลับกับร้องคำเซิ้ง กับการรดน้ำ โดยคำเซิ้งในการแห่นางแมวมีความดังต่อไปนี้
“เซิ้งอันนี้เผิ่นว่า เซิ้งนางแมว ย่างเป็นแถวกะนางแมวออกก่อน ไปตามบ่อนกะตามซอกตามซอย ไปบ่ถอยกะขอฝนขอฟ้า เฮาคอยถ้าให้ฝนเทลงมา ตามประสาแมวโพงแมวเป้า แมวดำมากินปลาย่าง แมวด่างกินปลาแห้ง ฝนฟ้าแล้ง กะขอฟ้าขอฝน ขอน้ำมนต์กะรดหัวแมวบ้าง (เมื่อถึงท่อนนี้ ชาวบ้านจะสาดน้ำใส่แมว)เทลงมากะฝนเทลงมา ท่วมไฮ่ท่วมนา ท่วมฮูปลาไหล ท่วมไม้โสงเสง ท่วมฮูปลาไหล ท่วมไม้โสงเสง หัวล้านชนกันฝนเทลงมา (ร้องซ้ำ)”
พิธีแห่นางแมวจะเริ่มตั้งแต่ 15.00 น. ไปจนถึง 20.00 น. หรือรอบหมู่บ้านแล้วหยุด เชื่อกันว่าเมื่อเทวดาได้ยินการแห่นางแมวก็จะชอบอกชอบใจบันดาลให้ฝนตก ฟ้าแลบ ฟ้าผ่าเกิดขึ้นหลังจากที่หยุดขบวนแห่ได้ไม่นานนัก
จากความเชื่อที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นจะเห็นได้ว่าแมวโพง แมวเป้า ปรากฏตัวทั้งในความเชื่อพื้นบ้านที่เกี่ยวข้องกับอาถรรพ์ความลี้ลับ ในขณะเดียวกันก็มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่มากเพียงพอที่จะถูกนำไปตั้งเป็นชื่อสถานที่ แล้วยังไปเป็นส่วนหนึ่งในคำร้องพิธีกรรมแห่นางแมวเพื่อขอฝนอีกด้วย ทำให้แมวโพง และแมวเป้า ยังคงเป็นส่วนประกอบหนึ่งของความเชื่อที่อาจไม่เลือนหายไปตามวันเวลา เหมือนกับเรื่องลี้ลับเรื่องอื่นๆ...
แมวผี จากความเชื่อของคนทั่วโลก
นอกจากประเทศไทยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเทศในฝั่งทวีปตะวันตกหรือตะวันออก กฌล้วนแล้วแต่มีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องของ "แมวผี" เช่นกัน โดยขอยกบางเรื่องราวที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง ดังต่อไปนี้
Demon Cat ตำนานแมวผี แห่งอาคารรัฐสภา ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับแมวผี ที่เรียกว่า Demon Cat ต้องย้อนกลับไปเมื่อหลายร้อยปีก่อน เมื่อแมวจำนวนหนึ่งได้ถูกพามายังอุโมงค์ใต้ดินของอาคารแห่งนี้เพื่อทำหน้าที่ในการตามล่าหนู เมื่อเวลาผ่านไปแมวหลายตัวก็ล้มตายจากอุบัติเหตุบ้าง อาการเจ็บป่วยหรือชราบ้าง แต่มีแมวอยู่ตัวหนึ่งที่ไม่ยอมจากไปแม้ว่ามันจะตายไปแล้วก็ตาม มันยังคงปรากฏตัวในบริเวณอุโมงค์ชั้นใต้ดินของอาคารรัฐสภาที่เดิมทีถูกตั้งใจว่าจะใช้เป็นสถานที่เก็บศพของประธานาธิบดี จอร์จวอชิงตัน
วิญญาณแมวผี ณ ผับ Ye Olde Starre Inne ประเทศอังกฤษ
Ye Olde Starre Inne เป็นหนึ่งในบาร์เครื่องดื่มที่เรียกได้ว่ามีความโดดเด่นมากที่สุดแห่งหนึ่งในยอร์ก ประเทศอังกฤษ ผับที่เต็มไปด้วยความคึกคักแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 1644 ในขณะที่ห้องใต้ดินกลับมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่านาน เพราะถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 10 อีกทั้งยังเคยถูกนำมาใช้เป็นโรงพยาบาลทหารและสถานที่ฝังศพในช่วงสงครามกลางเมืองของอังกฤษที่พรากชีวิตของผู้คนไปเป็นจำนวนมาก แม้จะมีเรื่องผีสางมากมาย แต่ที่น่าสนใจที่สุดกลับเป็นวิญญาณของแมวที่ปรากฏตัวมาให้เห็นกันอยู่เสมอ โดยมักปรากฏตัวเป็นแมวดำสองตัวรอบผับ เชื่อกันว่าน่าจะเป็นวิญญาณของแมวที่ร่างที่เสียชีวิตอยู่ในกำแพงใกล้กับผับ แต่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าพวกมันเป็นวิญญาณที่ดีและนำโชคดีมาสู่อาคาร