ผีม้าบ้อง ผีโหดโดดดีดเป้า
"Centaur" : ภาพจาก villains.fandom.com
“ผีม้าบ้อง” เป็นหนึ่งในผีที่ปรากฏตัวในเรื่องเล่าของชาวล้านนา (ไทยวน) มาตั้งแต่โบราณ เป็นผีป่าประเภทหนึ่ง ที่ปรากฏตัวเฉพาะในภาคเหนือ โดยเชื่อกันว่าที่จริงแล้วผีม้าบ้องคือ “ผีกะ” ที่อยู่มานานจนชรามากหรือมีฤทธิ์แกร่งกล้ากระทั่งแปลงกายคล้ายม้าสีหม่น บ้างว่ามีลักษณะร่างกายที่เหมือนการผสมผสานกันระหว่างคนกับม้า โดยท่อนบนเป็นมนุษย์และท่อนล่างเป็นม้า ฟังแล้วคล้ายกับสัตว์ในเทพนิยายกรีกอย่าง “Centaur” ที่ปรากฏตัวในภาพยนตร์แนวแฟนตาซีหลายเรื่อง
อาหารมื้อโปรดของผีม้าบ้อง
ของโปรดของผีม้าบ้อง คือของคาว โครงกระดูกวัว เลือด ไข่ดิบ และซากสัตว์โดยเฉพาะหัวควายแห้ง พวกมันจะพากันแทะกินอย่างเอร็ดอร่อยอย่างมากเลยทีเดียว ในบางครั้งผีม้าบ้องยังปรากฏตัวบริเวณด้านล่างของบ้านที่มีการคลอดลูก ถ้าหากมองลอดผ่านพื้นไม้ลงไปข้างล่างจะเห็นผีม้าบ้องมาเลียกินคาวเลือด ถ้าหากมาในร่างของมนุษย์ก็จะเห็นใช้มือกวาดคาวเลือดกินอย่างเอร็ดอร่อยอยู่ใต้ถุนบ้าน เมื่อพบแหล่งอาหารผีม้าบ้องจะกินจนอิ่มแล้วจำสถานที่เอาไว้ เมื่อมีโอกาสก็จะกลับมาอีก หากเป็นกระดูกก็จะเลียกินจนกระทั่งกระดูกเรียบมันเลยทีเดียว
การกำเนิดผีม้าบ้อง
คนโบราณเชื่อว่า ผีม้าบ้อง ในตอนกลางวันเป็นคนธรรมดา แต่ถูกผีกะเข้าสิงเจ้าของผีกะ หรือเข้าสิงผู้ชายในตระกูล โดยจะเข้าสิงร่างนั้นตลอดแล้วทำการออกหากินในตอนกลางคืน ในคืนเดือนมืด คืนข้างแรม วันพระ และช่วงเข้าพรรษา คนที่ถูกผีกะเข้าสิงจะทำตัวคล้ายกับม้าพับแขนทั้งสองข้างแนบเข้ากับลำตัว หันศอกไปข้างหน้าเหมือนกับเป็นหูของม้า ใช้ผ้าขาวม้าผูกเอวให้เหลือชายไว้ข้างหลังคล้ายกับหาง ส่งเสียงร้องเหมือนม้าแล้วออกวิ่งไปตามถนน และมักได้ยินเสียงเหมือนอะไรบางอย่างชนรั้วไม้จนพัง แต่เมื่อรุ่งเช้าเมื่อไปตรวจสอบดูก็นะปรากฏว่ารั้วปกติ ไม่ได้เสียหายแม้แต่น้อย และไม่มีรอยเท้าสัตว์วิ่งในบริเวณนั้นแต่อย่างใด
ตำนานบางกล่าวถึงเงื่อนไขในการกลายเป็นผีม้าบ้อง สามารถเกิดขึ้นได้จากวิญญาณของผู้ชายที่ขี้เหนียว ไม่เคยทำบุญทำทาน ไม่มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่น และไม่แต่งงานมีครอบครัว ทำให้เมื่อเสียชีวิตจึงไม่มีมีใครมาดูแลจัดการศพให้อย่างเหมาะสม ทำให้เกิดความอิจฉาริษยาคนที่มีครอบครัว
มีเรื่องเล่าเหตุการณ์เกิดผีม้าบ้อง คือ มีครอบครัวหนึ่งสามคนพ่อแม่ลูกทำหน้าที่เฝ้าคอกม้าของพระราชา เมื่อพ่อแม่เสียชีวิต ลูกชายรับสืบทอดดูแลม้าต่อด้วยความขยันขันแข็ง แต่ขี้เหนียวอย่างมาก แม้แต่หัวควายที่ตายแล้วเขาก็ยังแทะเอาเนื้อมากิน ใช้ชีวิตแบบนี้จนกระทั่งตายไปโดยไม่ได้แต่งงาน แต่พอตายกลับรู้สึกอิจฉาเด็กหนุ่มแรกรุ่น (บ่าวแถ่ว) เพราะตัวเองไร้คู่ เลยแอบแปลงกายไปเที่ยวกับเด็กหนุ่มบ่อยๆ แต่ถ้าคืนไหนเกิดอารมณ์ทางเพศ และแสงเดือนสลัวก็จะวิ่งคึกตามถนนถ้าพบเด็กหนุ่มก็ใช้ขาหลังดีดระหว่างขาของผู้เคราะห์ร้ายจนหน้าเขียว หรือบางครั้งก็ทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต ทำให้ผู้ใหญ่ชาวล้านนาไม่ให้ออกจากบ้านในเวลากลางคืน หรือถ้าให้ไปกับหนุ่มใหญ่ที่เคยจีบสาวมาอย่างโชกโชนเพราะถ้าหากไปเจอกับผีม้าบ้องเข้าจะได้ช่วยกันขับไล่
บางตำนานกล่าวถึงการเกิดผีม้าบ้องว่า ที่จริงแล้วผีม้าบ้องเป็นวิญญาณของม้าตัวหนึ่งที่มีความเจ็บแค้นความแล้งน้ำใจของมนุษย์ เรื่องเล่าว่ามีม้าคู่หนึ่งถูกเลี้ยงดูและไปไหนมาไหนด้วยกันจนสนิทสนมรักใคร่กันอย่างมาก แต่มาวันหนึ่งหนึ่งในนั้นล้มป่วยเจ้าของเลยถูกเจ้าของทิ้งเอาไว้ ม้าที่ถูกทิ้งนอนรอคอยการกลับมาของเพื่อนอยู่นานจนกระทั่งทนความเจ็บปวดไม่ไหวขาดใจตาย ด้วยความคิดถึงห่วงหาเพื่อนทำวิญญาณกลายมาเป็นผีม้าบ้องออกวิ่งตามหาเพื่อนตามสถานที่ต่างๆ บ้างว่าผีม้าบ้อง เป็นวิญญาณของม้าที่ตายในสงคราม ทำให้เกิดความโกรธแค้นมนุษย์อย่างมาก ทำให้วิญญาณยังคงยึดติดวิ่งวนเวียนไม่ยอมไปผุดไปเกิด
อีกหนึ่งในความเชื่อที่น่าสนใจเกี่ยวกับผีม้าบ้องคือ ผีม้าบ้องไม่ได้มีแค่เพศชายเท่านั้น แต่ยังมีผีม้าบ้อง ที่เป็นเพศหญิงด้วย โดยปรากฏตัวท่อนบนเป็นหญิงสาวสวย แต่ท่อนล่างเป็นม้า มักจะออกมาล่อลวงผู้ชาย โดยเฉพาะหนุ่มที่ยังไม่ประสีประสาเรื่องผู้หญิงให้ตามไปยังถิ่นอาศัยแล้วทำการฆ่าทิ้ง!!! นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า หากผีม้าบ้องวิ่งผ่านหมู่บ้านใดแล้วพบเด็กดื้อแอบลงเรือนมาในตอนกลางคืน ผีม้าบ้องก็จะทำการหลอกล่อให้เด็กขึ้นขี่หลังแล้วพาไปเมืองผี และไม่ได้มีโอกาสกลับมาเห็นหน้าพ่อแม่อีกเลย
สถานที่ที่ผีม้าบ้องมักปรากฏกายให้เห็น
สถานที่ที่ผีม้าบ้องชอบวิ่งผ่านเข้าออก คือ ตรอก ซอก และซอยแคบ ชาวล้านนาเรียกตรอกเหล่านี้ว่า “คลองหน้อย” หรือออกวิ่งไปตามลำเมืองที่ไม่มีน้ำ พร้อมกับเสียงวิ่งที่เหมือนกับวัว ควาย หรือฝูงสัตว์ในยามวิกาล และชอบไปปรากฏกายเพื่อขัดขวางการจีบสาวของหนุ่มชาวล้านนา เช่น วิ่งชนเสาเรือนให้เกิดเสียงดังและสั่นสะเทือนให้ตกใจ ถึงแม้จะมีคำบอกเล่าจากคนที่เคยเห็นผีม้าบ้องบ้าง แต่ก็ไม่เคยมีใครเคยเห็นผีม้าบ้องแบบเต็มตัว ส่วนใหญ่จะเห็นเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น แต่เชื่อกันว่าหากใครไปบังเอิญพบกับผีม้าบ้องเข้าจะถูกทำร้าย ตามรังควานไปจนถึงบ้าน เข้าครอบงำ หลอกหลอน หรือทำให้เกิดความเจ็บป่วยโดยไม่รู้สาเหตุ ทำให้ร่างกายค่อยๆอ่อนแอลงทีละน้อยจนกระทั่งเสียชีวิตไปในที่สุด
นกฮูก ร้องเตือนภัยเมื่อผีมาบ้องมาเยือน
คนโบราณเชื่อว่า สิ่งที่จะช่วยเตือนการปรากฏตัวของผีม้าบ้องคือ “นกฮูก” เพราะทั้งสองเป็นอริกัน ถ้าในคืนใดนกฮูกบินโฉบไปมาแล้วส่งเสียงร้อง นั่นหมายความว่าผีม้าบ้องจะปรากฏตัวในบริเวณนั้น ส่วนการป้องกันตัวเองจากผีม้าบ้องนั้น มีการเล่าว่าหากผีม้าบ้องเข้ามาใกล้ให้ทำการโยนไข่ดิบให้ แล้วฉวยจังหวะที่มันกำลังเอร็ดอร่อยกับไข่ดิบรีบกลับขึ้นบ้านแล้วกลับด้านบันไดบ้านในทันทันที หรือใช้ไม้คานบ้านฟาดใส่ ผีม้าบ้องจะกลัวจนหนีไป
การป้องกันตัวและขับไล่ผีม้าบ้อง
ผีม้าบ้องยังสามารถถูกขับไล่ได้ ด้วยการท่องคาถาบทสวดดังต่อไปนี้
“นะโมพุทธายะ มะพะ ทะนะ ภะ กะ สะ จะ สัพเพทวาปีสาเจวะ อาฬะวะกาทะโยปิยะ ขัคคัง ตาละปัตตัง ทิสวา สัพเพยักขา ปะลายันติ สักกัสสะ วะชิราวุธัง เวสสุวัณณัสสะ คะธาวุธัง อะฬะวะกัสสะ ทุสาวุธัง ยะมะนัสสะ นะยะนาวุธัง อิเมทิสวา สัพเพยักขา ปะลายันติ”
สิ่งที่ควรระมัดระวังอย่างมากคือ การไปเที่ยวบ้านของคนที่ถูกผีมาบ้องสิงสู่ ถึงแม้จะไปในตอนกลางวันก็ตาม เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่กินข้าวร่วมกับผีม้าบ้องร่วมกันสามครั้ง เราก็จะกลายเป็นผีม้าบ้องไปด้วย และผีม้าบ้องยังสามารถเป็นติดต่อกันได้ในหมู่เครือญาติ หากใครแต่งงานเข้าตระกูลของผีม้าบ้องแล้วกินข้าวร่วมกันครบ 7 ไห ก็จะกลายมาเป็นสายผีของตระกูลอย่างเต็มตัว
การกำจัดผีม้าบ้อง
มีตำนานที่กล่าวถึงการกำจัดผีม้าบ้องได้สำเร็จเอาไว้ในนิทานของล้านนาว่า มีชายหนุ่มคนหนึ่งชอบออกไปจีบสาวในตอนกลางคืนกับสหายสนิทเป็นประจำ แต่ในระหว่างทางสหายสนิทมักชอบขอตัวไปถ่ายหนักในระหว่างทางในสถานที่เดิมๆบ่อยจนผิดสังเกต แล้วมักให้เดินนำไปก่อน เมื่อแอบตามไปดูปรากฏว่าบริเวณนั้นมีกะโหลกควายแห้งที่ถูกเลียกินจนขึ้นเงา ด้วยความสงสัยว่าสหายสนิทอาจเป็นผีม้าบ้องจำแลงมา เขาจึงได้ตำพริกแล้วเอาไปทาที่กะโหลกควาย เมื่อสหายสนิทใช้อุบายเดิมแอบไปเลียกะโหลกควาย ความเผ็ดจากพริกและความโกรธจากการถูกกลั่นแกล้งทำให้กลายร่างเป็นม้าตัวใหญ่แล้ววิ่งไล่กวดหมายแก้แค้น แต่ชายคนนั้นไหวตัวทันรีบขึ้นไปหลบอยู่บนเรือนของสาวเจ้าที่ตนจีบอยู่ พ่อของหญิงสาวเป็นผู้มีอาคมจึงได้ทำการปลุกเสกไข่ดิบแล้วมอบให้กับชายหนุ่ม และสั่งว่าถ้าหากผีม้าบ้องตามมาติดจนเจียนตัวให้โยนไข่ดิบให้มันทีละฟอง เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ ชายหนุ่มทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด ค่อยๆโยนไข่ดิบล่อผีม้าบ้องทีละฟอง และทันทีที่กลับถึงบ้านเขาก็รีบกลับด้านของบันไดบ้านทันที ทำให้ผีม้าบ้องที่วิ่งตามมาเกิดความสับสนว่าบ้านใช่ แต่บันไดไม่ใช่ จนวิ่งวนเวียนไปมาไม่สามารถทำร้ายชายหนุ่มได้ แล้ววิ่งหายไปในป่า หลังจากที่อาคมที่ถูกปลุกเสกเอาไว้ในไข่ดิบออกฤทธิ์ก็ทำให้ผีม้าบ้องที่คืนร่างกลายเป็นมนุษย์นอนตายอยู่ที่บ้านของตัวเองในที่สุด บางเรื่องเล่าก็บอกว่าเพื่อนผีม้าบ้องได้หายตัวไป และไม่มีใครเคยพบเห็นอีกเลย
ในปัจจุบันในหลายพื้นที่ของภาคเหนือยังมีคนเห็นและได้ยินเสียงวิ่งของผีม้าบ้องอยู่ ทั้งคนที่ทำท่าทางคล้ายกับม้า ชูนิ้วทั้งสองข้างแนบไว้ข้างศีรษะแล้ววิ่งไปมา พร้อมกับส่งเสียงร้องเหมือนกับม้า กลิ้งคลุกฝุ่นกันไปมา บ้างเป็นชาย บ้างเป็นหญิงชราไม่สวมเสื้อ และเสียงวิ่งคล้ายผีม้าบ้องในตอนกลางคืน แต่การปรากฏตัวของผีม้าบ้องน้อยลงอาจเป็นเพราะความเจริญที่มากขึ้น พื้นที่ป่าที่น้อยลง ถนนหนทางที่สะดวกสบาย และการเข้ามาอยู่ของคนในพื้นที่ต่างๆ เป็นจำนวนมากทำให้การปรากฏตัวของผีม้าบ้องเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ความหลอนของชาวล้านนานั่นเอง...
มารู้จักกับ 12 ข้อเท็จและจริง ในภาพยนตร์ผี The Conjuring – Annabelle และ The Nun กับหลายสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้!