สิ้นสุดยุคแห่งการล่าพ่อมด แม่มด
ประวัติศาสตร์เปื้อนเลือดในการล่าแม่มดใช้เวลายาวนานถึง 300 ปี กว่าที่มนุษย์จะรู้สึกตัว แล้วหลุดออกจากวังวนแห่งความเขลา นักประวัติศาสตร์มากมาย ได้พยายามคำนวณตัวเลย ของบรรดาเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์นี้ จนสามารถประมาณจำนวนกลมๆ ได้ว่า มีผู้บริสุทธิ์ที่ต้องสังเวยชีวิตให้แก่การล่าแม่มดครั้งนี้ รวมกันมากถึง 200,000 คน เฉพาะในประเทศเยอรมันนี เพียงที่เดียว ก็มีจำนวนไม่น้อยกว่า 100,000 คน ในขณะที่ฝรั่งเศส กับสก็อตแลนด์ มีจำนวนรวมกันราว 10,000 คน ประเทศอังกฤษประมาณ 1,000 คน และในประเทศไอซ์แลนด์อีก 4 คน นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่า จำนวนของคนที่ต้องสังเวยชีวิตไปในเหตุการณ์ล่าแม่มดอันบ้าคลั่งนี้ ที่จริงมีจำนวนเกือบล้านคนทีเดียว โดยส่วนใหญ่มักเป็นหญิงชราที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียว
ในขณะที่การประเมินทางวิชาการสมัยใหม่ พบว่าตัวเลขของผู้ที่เสียชีวิตจริงมีน้อยกว่านั้นมาก วิลเลียม มอนเทอร์ ได้ทำการประมาณจำนวนของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ล่าแม่มดทั่วโลก ในช่วงเวลาแห่งความชิงชังเอาไว้ที่ 35,000 คน มัลคอล์ แกสคิล ประมาณผู้เสียชีวิตไว้ที่ 40,000 – 50,000 คน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ 75-80 % เป็นเพศหญิง
สถิติโดยประมาณของผู้ที่ถูกตัดสินโทษประหารชีวิตในฐานะของพ่อมดแม่มด ในยุโรป ช่วง ค.ศ.1450-1750 โดยแยกออกตามภูมิภาคต่างๆของยุโรป สามารถสรุปได้เป็นตารางดังต่อไปนี้ครับ
ประเทศ |
จับกุม |
ตัดสินประหารชีวิต |
เกาะอังกฤษ – อเมริกาเหนือ |
5,000 คน |
1,500 – 2,000 คน |
จักรวรรดิโรมัน (เยอรมนี เนเธอแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ รอเรนต์ ออสเตรีย รวมทั้งดินแดนของสาธารณรัฐเช็ก โบฮีเมีย โมราเวีย และแคว้นซิลีเซีย) |
50,000 คน |
25,000-30,000 คน |
ฝรั่งเศส |
3,000 คน |
1,000 คน |
สแกนดิเนเวีย |
5,000 คน |
1,700 – 2,000 คน |
ยุโรปตะวันออก (โปแลนด์ ลิทัวเนีย รัสเซีย และฮังการี) |
7,000 คน |
2,000 คน |
ยุโรปใต้ (สเปน โปรตุเกสและอิตาลี) |
10,000 คน |
1,000 คน |
รวม |
80,000 คน |
35,000 คน |
หลังจากที่เมฆหมองแห่งการสังหารหมู่เริ่มเบาบางด้วยเหตุผลบวกกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่อันทันสมัยที่ก้าวเข้ามาช่วยพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเหยื่อเคราะห์ร้าย หลายๆประเทศ ในช่วงเวลาอันบ้างคลั่ง ก็ได้เริ่มทยอยประกาศยกเลิกการล่าแม่มด ตามลำดับ ดังต่อไปนี้
ค.ศ.1610 ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรกของโลก ที่ประกาศยุติการประหารแม่มด
ค.ศ.1672 ประเทศฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ ที่ 16 (Louise XIV) รับสั่งให้ระงับการล่าและเผาแม่มด
ค.ศ.1722 กษัตริย์ จอร์จ ที่ 2 (George II) แห่งประเทศอังกฤษ รับสั่งห้ามการล่าและเผาแม่มดอย่างเด็ดขาด ทำให้ประเทศอื่นๆในทวีปยุโรป เริ่มทยอยทำตาม ในขณะเดียวกันคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก ก็ได้ยุติบทบาท และละอำนาจของผู้สอบสวนแม่มดลงเช่นกัน
การล่าแม่มดในทวีปยุโรป เริ่มมาถึงจุดสงบอย่างแท้จริง ในประเทศโปแลนด์ ในปี ค.ศ.1793 ในขณะเดียวกัน บรรดาเหล่าผู้ที่สืบทอดเวทมนตร์อย่างลับๆ ได้พากันหลบซ่อน เร้นกายอยู่ภายในเงามืด พร้อม กับองค์ความรู้ที่จะสืบจะมอบให้กับคนรุ่นต่อไป ที่สนใจเรื่องเวทมนตร์คาถา โดยหวังว่าในสักวันจะสามารถฟื้นฟูยุคแห่งเวทมนตร์ ให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์เปื้อนเลือดบทนี้ ก็ยังไม่ได้เลือนหายไปจากโลกใบนี้ มันยังคงปรากฏขึ้นมาให้เห็นบ้างประปราย แม้เวลาจะล่วงเลยมาจนถึงศตวรรษที่ 21 แล้วก็ตาม ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็ยังมีเหตุการณ์ตัดสินประหารชีวิต ผู้มีความผิดในโทษฐานใช้เวทมนตร์ ให้เห็น ในตะวันออกกลาง และทวีปแอฟริกาหลายคดี
ค.ศ. 2006 ในตะวันออกกลาง Fawza Falih Muhammad Ali หญิงชาวซาอุดิอาระเบีย ถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิต ด้วยความผิดฐานใช้เวทมนตร์คาถา โดยมีพยาน และหลักฐาน เป็นผู้ชายคนหนึ่งที่กล่าวโทษว่า เธอได้ใช้เวทมนตร์ “เสก”ให้เขาอ่อนแอลง เธอสารภาพ แล้วกลับคำสารภาพในชั้นศาล โดยอ้างว่าคำสารภาพก่อนหน้านี้ เกิดขึ้นจากการถูกข่มขู่ บังคับให้ลงลายนิ้วมือในเอกสารที่ตนเองไม่เข้าใจเนื้อหา กลุ่มสิทธิมนุษยชนต้องใช้เวลาหลายปี ในการยื่นอุทธรณ์ เพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรมครั้งนี้ แต่น่าเสียดายที่เธอเสียชีวิตในคุก เมื่อปี ค.ศ.2010 เพราะสำลักอาหาร
ในเดือนกันยายน ค.ศ.2011 ชาวซูดานคนหนึ่ง ถูกตัดหัวในที่สาธารณะ ที่เมืองเมดนา ประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นการลงโทษต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากใช้เวทมนตร์ และในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ผู้หญิงชาวซาอุดิอาระเบีย ชื่อ Amina bint Abdulhalim Nassar ก็ได้ถูกลงโทษด้วยการตัดหัว เพราะมีการใช้เวทมนตร์คาถา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การลงโทษประหารชีวิตในความผิดนี้ ไม่ได้ถูกระบุกำหนดเอาไว้ในประมวลกฏหมายอาญาของประเทศ
ในปี 2012 Muree bin Ali bin Issa al-Asiri ชาวซาอุดิอาระเบีย ถูกตัดสินให้รับการตัดศีรษะ ในข้อหาใช้เวทมนตร์คาถาจากการครอบครองหนังสือ และเครื่องรางของขลัง นอกจากนี้ เขายังยอมรับว่าลักลอบเป็นชู้กับผู้หญิงอีกสองคน ผลการตัดสินนี้ ได้รับการประณามอย่างมากในกลุ่มผู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชน
ปิดม่านประวัติศาสตร์แห่งการล่าพ่อมดและแม่มดของยุคกลาง
ถึงแม้ว่าประวัติศาสตร์เปื้อนเลือดในการสังหารหมู่แม่มดอย่างชอบธรรมจากคนส่วนใหญ่ในสังคม อันสุดแสนจะป่าเถื่อน จะได้ปิดม่านลงแล้ว เหลือทิ้งเอาไว้เพียงคราบเลือด หยดน้ำตา และกองกระดูกขาวโพลนของผู้ไร้ความผิดสูงเทียมภูเขา ก็ยังเป็นที่น่าเสียดาย ที่บางส่วนของโลกยุคที่เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าอย่างมาก การศึกษา และวิทยาศาสตร์ได้เข้ามาช่วยพิสูจน์ ไขปริศนาความผิด จากการถูกปรักปรำอย่างไม่ชอบธรรมในฐานะของแม่มด หลายพื้นที่ กลับยังมีความเชื่อล้าหลัง ที่พร้อมใช้คำว่า “แม่มด” เป็นข้ออ้าง เพื่อปลุกปั่น ใส่ความคนที่มีความคิดแตกต่าง หรือเป็นอริกับตนเอง ให้ถูกรังเกียจ จนกระทั่งนำไปสู่การถูกลงทัณฑ์อย่างรุนแรงทางสังคม หรือคุกคามชีวิต โดยปราศจากความผิดอย่างน่าเศร้าใจยิ่งนัก...